ตรงบริเวณแถวๆ ซอยพิชิตนี่เอง เป็นนิวาสสถานวังเดิมของเจ้านายสูงศักดิ์พระองค์หนึ่ง ซึ่งเมื่อเอ่ยพระนามแล้ว คนรุ่นปัจจุบันอาจจะต้องหันหน้าไปมองกันเป็นเชิงถามว่า ท่านทรงมีผลงานอะไรด้านไหนบ้าง แต่ผู้ที่ศึกษาพงศาวดารชาติไทยในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ "พระปิยมหาราช" จะต้องทราบดีว่า พระองค์ท่านทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารบ้านเมืองสยามในยุคที่กำลังหน้าสิ่วหน้าขวานต้านกระแสอำนาจอันยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจจากยุโรปในขณะนั้น ภาระหน้าที่ของพระองค์มีลักษณะเป็น "ฝ่ายบุ๋น" ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งที่เรียกในยุคนั้นว่า "อธิบดีศาลต่างประเทศ" มีหน้าที่ว่าคดีกรณีพิพาทกระทบกระทั่งระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ โดยเฉพาะพวกชนชาติจากเมืองขึ้นหรือคนในบังคับของมหาอำนาจที่เข้ามาอยู่ทำมาหากินในเมืองไทย
"ฝ่ายบุ๋น" มีบทบาทสำคัญยิ่งกว่า "ฝ่ายบู๋" ในยุคนั้น เพราะเราย่อมรู้ตัวเราดีว่า ด้วยกำลังคนและประสิทธิภาพของอาวุธที่สยามมีอยู่ในเวลานั้น เราไม่มีหนทางใดๆ ที่จะทำสงครามกับพวกเขา แต่เราจำเป็นต้อง "ซื้อเวลา" โดยอาศัยฝ่ายบุ๋น คือ ความสุขุมรอบคอบชิงไหวชิงพริบกับมหาอำนาจ ก็คือบรรดาพวกขี้ข้าฝรั่งจากเมืองขึ้นต่างๆ เมื่อมาทำมาหากินในเมืองไทย ก็มีอยู่ไม่น้อยที่มักแสดงความเย่อหยิ่งจองหองเกินเหตุ จนเกิดพิพาทกับคนไทยเจ้าของประเทศ เผอิญหัวหน้าฝ่ายบุ๋นในเชิงอรรถคดีของไทยเวลานั้น ที่มีตำแหน่งเรียกว่า "อธิบดีศาลต่างประเทศ" นั้น เป็นนักศึกษาค้นคว้าที่ยิ่งใหญ่มากพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ "บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" ได้ทรงพระนิพนธ์ถึงท่านผู้นี้ว่า ทรงมีมานะอุตสาหะศึกษาภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสด้วยพระองค์เองเพื่อนำไปใช้ว่าคดีในศาลต่างประเทศ ลองคิดดูเถิดว่าในยุคสมัยนั้น หาครูสอนภาษาต่างประเทศ ๒ ภาษานี้ ย่อมยากเย็นเพียงใด แต่พระองค์ก็ทรงศึกษาจนใช้การได้
(ภาพจากเว็บไซต์) |
อังวะธิราชเจ้า ภุกาม
ฉลองธาตุร่างกุ้งงาม ครึกครื้น
ขนมต้มชื่อชาวสยาม ตนหนึ่ง
ขันต่อยตีพวกพื้น ม่านรู้ครูมวย ฯ
☞ ฉับฉวยชกฉกช้ำ ฉุบฉับ
โถมทุบทุ่มถองทับ ถีบท้าว
เตะตีต่อยตุบตับ ตบตัก
หมดหมู่เมงมอญม้าว ม่านเมื้อหมางเมิน ฯ ☜
เกินสิบต่อยบ่ซ้ำ สองยก
ม่านกระษัตริย์หัตถ์ลูบอก โอฐพร้อง
ชาติสยามผิยามตก ไร้ยาก ไฉนนา
ยังแต่ตัวยังต้อง ห่อนได้ภัยมี ฯ
ฉากนี้สมพากย์พร้อง เพรงสุภา สิตเอย
เคยปากหากพูดมา มากครั้ง
กรุงศรีอยุธยา ไป่ขาด ดีเลย
รูปฉากพากย์ติดตั้ง ต่อให้เห็นจริง ฯ
ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ ร้อยปีเศษมาแล้ว สมเด็จพระปิยมหาราชทรงโปรดให้ช่างเขียนภาพพระราชพงศาวดารไทยเป็นตอนๆ ไปประดับในงานออกพระเมรุเจ้านายที่ท้องสนามหลวง แล้วโปรดให้เจ้านายและบรรดาขุนนางข้าราชบริพารที่สันทัดกวีนิพนธ์ แต่งโคลงสี่สุภาพบรรยายภาพเหล่านั้นทั้งหมด ๙๒ ภาพ กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงพระนิพนธ์บรรยายไว้ ๒ ภาพ คือ ภาพที่ ๒๙ กับภาพที่ ๖๙ อันเป็นพระราชพงศาวดารไทยตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำ "ยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา" ภาพหนึ่ง กับอีกภาพหนึ่งเป็นภาพคนไทยชื่อ "นายขนมต้ม"
นายขนมต้ม (ภาพจากเว็บไซต์) |
โคลงชุดนี้ ตีพิมพ์เฉพาะในวาระสำคัญๆ เท่านั้น คราวหลังสุดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณวัฒนา เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖
บทกวีนิพนธ์ที่แต่งเป็นคำกลอนนั้นอ่านเข้าใจง่าย ด้วยเป็นคำประพันธ์ที่ใช้ถ้อยคำพื้นๆ ไม่นิยมใช้ศัพท์ เช่นในคำประพันธ์ประเภทกาพย์และกลอน ส่วนโคลงสี่สุภาพ แม้ว่าจะใช้ "คำไทย" แท้ๆ เกือบทุกถ้อยคำดังที่ปรากฏในพระนิพนธ์ที่ยกมานี้ก็ตาม แต่ "ลีลา" ของโคลงสี่เป็นเอกลักษณ์พิเศษต่างจากกาพย์กลอนและฉันท์ ซึ่ง ๓ ประเภทนี้มีลีลาไม่ต่างกันมากนัก ทว่าลีลาของโคลงสี่เป็นแบบฉบับเฉพาะ เมื่ออ่านจะมีเสียงสะบัดสะบิ้งกระตุกกระตัก เวลาแปลความก็ยากกว่ากาพย์กลอน
ด้วยเหตุนี้เอง โคลงพระนิพนธ์อีกบทหนึ่งซึ่งกรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงฝากฝีพระโอษฐ์จารึกไว้ใต้ภาพ "รามเกียรติ์" ณ เสาพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ทรงบรรยายภาพ "มัจฉานุ" จึงมีคนกล่าวถึงไม่บ่อยครั้งนัก เฉพาะแต่ผู้รู้เรื่องโคลงลึกซึ้งจึงจะยกย่องและอธิบายให้คนทั้งหลายเข้าใจได้ เช่น ท่านอาจารย์สถิตย์ "กวีสามกรุง" เสมานิล เคยกล่าวว่าโคลงพระนิพนธ์ของกรมหลวงพิชิตปรีชากรบทนี้ สามารถสรุปเรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับโคตรเหง้าเหล่ากอ ชาติกำเนิด รูปกายลักษณ์และภูมิสถานหน้าที่ของมัจฉานุเอาไว้ได้หมดในโคลงบทเดียว ดังนี้
หลานลมหลานราพณ์ทั้ง หลานปลา
หลานมนุษย์บุตรมัจฉวา นเรศพ้อง
ยลหางอย่างมัตสยา กายเศวต สวาแฮ
นามมัจฉานุป้อง กึ่งหล้าบาดาล ฯ
รามเกียรติ์ (ภาพจากเว็บไซต์) |
รามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ (ภาพจากเว็บไซต์) |
อาจารย์สถิตย์ยังท้าว่า ใครๆ ก็ไม่อาจแต่งได้ดีเสมอโคลงบทนี้ ท่านผู้ใดอยากทราบว่าโคลงบทนี้ดีจริงอย่างท่านอาจารย์สถิตย์ยกย่องหรือไม่ ก็โปรดอ่านเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นๆ จนถึงตอน "ศึกไมยราพ" ก็ย่อมประจักษ์เอง
นอกจากโคลงสี่สุภาพที่ยอดเยี่ยมแล้ว กลอนเพลงยาวก็ทรงไว้บ้าง แต่ที่ทรงพระนิพนธ์ร้อยแก้วเป็นทำนองเรื่องสั้นแบบสมัยใหม่ เป็นการบุกเบิกการเขียนนิยายเรื่องสั้นเป็นเรื่องแรกของนักเขียนสยาม ทรงใช้ชื่อเรื่องว่า "สนุกนึก" เผอิญตัวละครและฉากสถานที่ไม่เหมาะแก่ยุคสมัยด้วยใช้สถานที่ "วัดบวรนิเวศวิหาร" และตัวละคร(สมมุติ) เป็นพระภิกษุหนุ่มๆ ในสังกัดวัดนั้น ซึ่งเผอิญสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระสังฆราชเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ วัดนั้น ทรงโทมนัสเรื่องสั้น "สนุกนึก" จึงไม่สนุกต่อไปจนจบเรื่องได้ ก็คงเป็นธรรมดาของผู้คิดค้นริเริ่มเรื่องอะไรเป็นครั้งแรกคนแรก ก็มักจะเจ็บปวด เช่น นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียน ชื่อ กาลิเลโอ (Galileo) กาลิเลโอผู้ค้นพบว่า "โลกกลม" ในยุคสมัยที่คนเชื่อว่า "โลกแบน" กันทั้งนั้น กาลิเลโอจึงถูกจับขังคุกหลายปีจนตาบอด จึงได้ออกมาตายนอกคุก
จึงไม่แปลกกระมังที่ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงเป็น "กวีที่ถูกลืม"
ผู้เรียบเรียงประวัติ ศุภกิจ นิมมานนรเทพ
(เรื่องนี้เคยพิมพ์ในหนังสือ "กวีแก้ว ๓๒" ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๒)