กรมหลวงนรินทรเทวี (ภาพจากเว็บไซต์) |
พระศรีศากยมุนีวัดสุทัศน์ (ภาพจากเว็บไซต์) |
ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในยุครัชกาลที่ ๗ เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า อาจจะเกิดเหตุร้ายโค่นพระราชอำนาจในช่วงเวลาที่กรุงเทพมหานครก่อตั้งมาครบ ๑๕๐ ปี คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ ซึ่งในวันนั้นมีกำหนดการพระราชพิธีหลายเรื่องอันเนื่องมาจากวาระครบ ๑๕๐ ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี นอกจากพระราชพิธีในวังหลวง และที่ปราสาทพระเทพบิดรแล้ว ยังมีพระราชพิธีเสด็จฯ ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมกรุงเทพฯ กับธนบุรี และทรงเปิดโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง
ทหารตำรวจฝ่ายรักษาความสงบ โดยเฉพาะพลตรีพระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว. อิ๊ นพวงษ์) ผู้บัญชาการรักษาพระนครต้องทำงานเคร่งเครียดอย่างหนัก เพราะมีข่าวลืออยู่ตลอดว่า "จะมีการปฏิวัติยึดอำนาจพระราชวงศ์" จนพระยาเสนาสงครามต้องออกปากปราม "ข่าวลือ" ว่า "...ฉันมีเลือดจักรีวงศ์ จะไม่ยอมให้ใครมายึดอำนาจเด็ดขาด...!" เผอิญผู้ที่ถูกราชสำนักและฝ่ายรักษาความมั่นคงเพ่งเล็งมากที่สุดว่าจะก่อการขึ้นคือ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (กฤดากร) อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งราว ๒ ปีก่อนหน้านี้ ทรงลาออกจากตำแหน่งเพื่อ "ประท้วง" ที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ปรับขึ้นเงินเดือนแก่ทหาร จึงเป็นวีรกรรมที่ "ได้ใจ" ทหารอยู่ไม่น้อยและเป็นที่มาของความระแวงพระองค์เจ้าพระองค์นี้
แต่ช่วงเวลานั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกตำ่ไปทั่วโลก คณะอภิรัฐมนตรีสภาและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดทอนงบประมาณการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวเอง ทรงขอลดค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ลงจากปีละ ๙ ล้านลาท เป็นปีละ ๖ ล้าน และปี ๒๔๗๕ ลดลงเหลือ ๓ ล้านบาทด้วย พระองค์เจ้าบวรเดชเอง ก็มิได้ทรงคิดการร้ายอะไร ความเครียดที่เขม็งอยู่ในช่วงเดือนเมษายนจึงผ่านไปอย่างราบรื่นสบายใจ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีจึงเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงอำนาจอยู่ในบ้านเมือง เช่น จอมพล เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พลเอกกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ฯลฯ ล้วนมิได้ทรงระแวดระวังว่าจะมี "เหตุการณ์สำคัญ" เกิดขึ้นในเช้ามืดวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
ล้วนคาดไม่ถึงเลยว่า "คณะราษฎร" จะยึดอำนาจรัฐอย่างง่ายดาย ทั้งมีกำลังทหารไม่กี่ร้อยคน เกณฑ์นักเรียนนายร้อยมาร่วมชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อให้ดูว่ามีกำลังมากขึ้น ทั้งช่วยป้องกันกองบัญชาการของ "คณะราษฎร" ซึ่งยึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการ เช้ามืดวันนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงอำนาจถูกจู่โจมคุมองค์ไปกักไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เว้นแต่พระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จอยู่ที่วังไกลกังวล และพลเอกกรมพระกำแพงเพชรฯ ที่เผอิญมิได้บรรทมที่วัง แต่เสด็จอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่ถนนสุรวงศ์ เมื่อทรงทราบข่าวร้ายจากคนในวัง จึงรีบเสด็จไปสถานีรถไฟหัวลำโพง เพราะทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงด้วย ทรงเบิกรถจักรรถไฟขบวนพิเศษ ทรงขับเองได้มุ่งไปหัวหิน รีบเสด็จเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบข่าวร้าย และทูลเชิญให้ประทับรถไฟเสด็จหนีออกนอกประเทศ เพราะทรงเกรงว่า คณะปฏิวัติจะปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวงศ์ดังเช่นเหตุในรัสเซียก่อนหน้านั้น
แต่กรมพระกำแพงเพชรฯ ต้องเสด็จหนีไปเพียงลำพัง เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเชื่อมั่นว่าด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงเปี่ยมพระเมตตาต่อไพร่ฟ้าประชาชน "คณะราษฎร" ย่อมไม่กล้าประทุษร้ายต่อพระองค์ จึงเสด็จกลับพระนครตามที่ น.ท. หลวงศุภชลาศัยนำหนังสือจาก "คณะราษฎร" มากราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญนับแต่บัดนั้น
บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ดุจ "พลิกแผ่นดิน" ขนาดนั้น ที่ไหนจะเกิดความสงบราบรื่นปรองดองได้ ปีต่อมารัฐบาลชุดแรกที่ "คณะราษฎร" เห็นชอบตั้งขึ้นกลับถูก "คณะราษฎร" โค่นล้ม ทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองปีนัง ถึงต้นเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชฯ นอกราชการทรงนำคณะนายทหารคุมกำลังจากจังหวัดต่างๆ รอบกรุงเทพฯ เช่น อยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา เคลื่อนลงมายึดพื้นที่สนามบินดอนเมือง สถานีรถไฟบางเขนเป็นฐานทัพ ยื่นคำขาดให้รัฐบาล "คณะราษฎร" ซึ่งมีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (หัวหน้าคณะราษฎร) ลาออก แล้วถวายพระราชอำนาจคืนแด่พระมหากษัตริย์
นอกจาก "คณะราษฎร" ไม่ยอมแพ้ ยังสู้รบกันถึงล้มตาย ทั้งนายทหารและไพร่พล ๒ ฝ่าย แต่เพียง ๔-๕ วัน ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชก็พ่ายแพ้ กลายเป็น "กบฏบวรเดช" จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม แม่ทัพฝ่ายกบฏถูกยิงตาย นายทหาร พลเรือนและเอกชนที่ร่วมมือฝ่ายกบฏทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งผู้ที่ถูกระแวง หรืออยู่ในเป้าหมายที่จะถูกโค่นล้มก็ถูกกวาดต้อนจับกุมมาหลายร้อยคน นำขึ้น "ศาลพิเศษ" ในศาลาว่าการกลาโหม ศาลพิเศษตัดสินลงโทษประหารชีวิตหลายสิบคน จำคุก ๒๐ ปีถึงตลอดชีวิตกว่าร้อยคน ยกฟ้องปล่อยตัวไปไม่กี่คน
"นักโทษการเมือง" ที่ถูกส่งไปประเดิม "คุกบางขวาง" ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่นนทบุรีในครั้งนั้น มีทั้งพระราชวงศ์ระดับหม่อมเจ้า เช่น ม.จ. สิทธิพร กฤดากร ระดับ ม.ร.ว. และหม่อมหลวงก็หลายคน นายทหารผู้ใหญระดับพลเอกลงมา เช่น พลเอกพระยาเทพหัสดิน อดีตแม่ทัพกองพลทหารอาสาเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งแรกถูกจำคุกตลอดชีวิต ทายาท ๒ คน ถูกประหารชีวิต คุกบางขวางจึงมีพระราชวงศ์ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน เอกชน ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ "คณะราษฎร" ไปร่วมชะตากรรมที่นั่น
ผ่านมาอีกไม่กี่ปี เกิดคดีกบฏอีกหลายคดี ส่วนใหญ่เป็นการ "หักหลังกันเอง" ภายใน "คณะราษฎร" โดยผู้นำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถูกกำจัดออกไปอยู่ต่างประเทศ ๓ ใน ๔ คน คือ พันเอกพระยาทรงสุรเดชไปลี้ภัยอยู่กัมพูชา พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ไปลี้ภัยอยู่มลายู และพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธไปเป็นอัครราชทูตประจำเยอรมนี คงเหลือเพียงพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรซึ่งเป็น "หุ่นเชิด" ให้กลุ่มนายทหารหนุ่ม "สายเหยี่ยว" ที่มี พันโทหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้นำกลุ่ม จนถึงปี ๒๔๘๑ อำนาจเบ็ดเสร็จก็ตกอยู่ในมือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายทหาร คนไทยยุคนั้นถ้าเข้าชมมหรสพ ต้องยืนตรงฟังเพลง "สรรเสริญผู้นำ" แล้วโค้งคำนับก่อนจึงจะเริ่มฉายภาพยนตร์ ทำเหมือนๆ กับคนเยอรมันทำต่อ "ฮิตเลอร์" และคนอิตาเลียนทำต่อ "มุสโสลินี" ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกยุคนั้น
ในช่วงเวลานั้น ราชสำนักสยามอับแสงลงอีกเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกไปประทับที่อังกฤษ และส่งพระราชโทรเลขมา "สละราชสมบัติ" ในปี ๒๔๗๗ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ทรงสืบราชสมบัติแทน แต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงศึกษาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ พระราชวงศ์ระดับสูงเหลืออยู่ในประเทศเพียงไม่ถึง ๑๐ พระองค์ ในจำนวนนี้ถูกจับขังคุกบางขวางพระองค์หนึ่ง คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ พระผู้ก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าซึ่งจอมพล ป. และนายทหารบกแกนนำ "คณะราษฎร" ล้วนเป็นศิษย์เก่า แม้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งทรงเป็นพระบรมราชเทวี (มเหสี) ในรัชกาลที่ ๕ และทรงเป็น "สมเด็จย่า" ในพระเจ้าอยูหัวจะทรงขอประกัน(ตัว)กรมขุนชัยนาทฯ แต่พระองค์ก็ยังคงถูกส่งเข้าคุกในนามนักโทษชายรังสิตประยูรศักดิ์ เดชะบุญที่ไม่ถูกส่งไปเกาะตะรุเตา และเกาะเต่า
นักโทษการเมืองอื่นๆ ที่โทษเกิน ๒๐ ปี ถูกส่งไปคุมขัง "ปล่อยเกาะ" ที่เกาะตะรุเตาในทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล แต่อดีตนาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒและเพื่อนนักโทษหลบหนีทางเรือไปยังเกาะลังกาวี และลี้ภัยอยู่ในมลายู รัฐบาลจึงย้ายนักโทษการเมืองมาปล่อยที่ "เกาะเต่า" ซึ่งอยู่ห่างจากอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๑๒๐ กิโลเมตร นักโทษการเมืองทั้งเชื้อพระวงศ์ อดีตข้าราชการระดับสูง และปัญญาชนถูกบังคับให้ทำงานโยธาทุกวัน โดยมีนักโทษคดีอุกฉกรรจ์เป็นผู้ช่วยผู้คุมบังคับให้ทำงาน นักโทษยังเผชิญกับไข้ป่ามาลาเรียและอดอยากขาดแคลนอาหาร จึงล้มตายลงไปเรื่อยๆ นับสิบคน คนที่เหลือก็รอคิวตายตามเพราะร่างกายทรุดโทรมอมโรค
ผ่านทุกข์เข็ญแสนสาหัสกว่าสิบปีที่สุดในปี ๒๔๘๗ นั้น กระแสกดดันภายใน "คณะราษฎร" เอง ทำให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมให้แก่นักโทษการเมืองทุกคนกลับสู่มาตุภูมิ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกโค่นล้มโดยวิถีประชาธิปไตย คือ พระราชกฤษฏีกา ๒ ฉบับของรัฐบาลถูกคว่ำในรัฐสภา ทำให้รัฐบาลต้องลาออก นายควง อภัยวงศ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีกำลังหนุนจากกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนใน "คณะราษฎร" ซึ่งขณะนั้นแตกเป็นเสี่ยงๆ หักโค่นกันเอง สมดังพระดำรัสทำนายของสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตซึ่งทรงเตือนสติร้อยโทประยูร ภมรมนตรี หนึ่งใน "คณะราษฎร" ที่นำทหารไปคุมพระองค์มาจากวังบางขุนพรหม
สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร |
ม.จ. สิทธิพร กฤดากร |
ฉบับต่อมา "เดลิเมล์ วันจันทร์" ตีพิมพ์จดหมายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ และนายกรัฐมนตรี ผู้โค่นล้มจอมพล ป. นั่นเอง จอมพลสฤษดิ์ เขียนจดหมายด้วยลายมือตนเองถึง พระยาศราภัยพิพัฒ ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะและแสดงความเคารพนบนอบมาก ไม่มีใครคาดคิดว่า จอมพลผู้มีบุคลิกภาพเข้มแข็งเด็ดขาด สั่งยิงเป้าผู้ทำผิดกฏหมายอยู่เนืองๆ จะเป็นคนที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างไพเราะเหมาะสมเพื่ออ้อนวอนให้พระยาศราภัยพิพัฒกลับมาเขียนอีกเพื่อ "...เตือนสติกระผมและรัฐบาลต่อไปเถิด..." พระยาศราภัยพิพัฒ เขียนต่ออีกจนถึงแก่อนิจกรรมหลังจอมพลหลายปี
สอ เสถบุตร |
เรื่องราวที่ผู้เขียนนำมาเขียนเล่าให้ท่านอ่านในแบบ "ชักม้าชมเมือง" นี้ เก็บความมาเล็กๆ น้อยๆ จากข้อมูลในหนังสือหลายสิบเล่มที่ผู้เขียนเป็นอดีตนักโทษการเมืองและเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ร่วมยุคสมัยนั้น
ละครชีวิตจริงเรื่องนี้น่าสนใจ และน่าจะเป็นอุทาหรณ์แก่คนไทยทุกยุคทุกสมัย การอ่านประวัติศาสตร์ คือ การส่องกระจกสะท้อนดูตัวเอง
เรื่องราวเหล่านี้ วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนรางวัลซีไรต์ ๒ สมัย ได้นำมาร้อยเรียงในรูปของนิยายอิงประวัติศาสตร์ ชื่อเรื่อง "น้ำเงินแท้" ครบทั้งอรรถรสและประเทืองปัญญาได้อย่างดียิ่ง วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือทั่วไป