Wednesday, August 16, 2017

ความไม่(รู้)ภาษาถิ่น

               ช่วงปี ๒๕๒๖ - ๒๕๓๕  ผมรับราชการเป็นผู้ตรวจการพาณิชย์  มีภารกิจเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิทั่วประเทศ  บางครั้งต้องเข้าไปเยี่ยมชมแนะนำการทำมาหากินตามโครงการหมู่บ้าน อ.พ.ป.

               ครั้งหนึ่ง  ผมตามคณะกรรมการฯ เข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา  ผมถามชาวบ้านสูงอายุคนหนึ่งว่าทำอาชีพอะไร  หูของผมได้ยินคำตอบ (สำเนียงถิ่นใต้) ว่า  หลักส่ามู่  ผมฟังไม่รู้เรื่องจึงถามพาณิชย์จังหวัดฯ  ซึ่งชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดกระบี่  เขาก็ใช้สำเนียงใต้สอบถาม  ผมยืนฟังก็ได้ยินคำเดิม  หลักส่ามู่  พาณิชย์จังหวัดขอปลีกตัวไปพาปศุสัตว์จังหวัดฯ  ขยายความว่าชาวบ้านย่านนั้นใช้คำว่า  "รักษา"  ในความหมายว่า "เลี้ยง ดูแล"   ต่อมาผมไปกับคณะฯ  เข้าพื้นที่อำเภอสร้างคอม  จังหวัดอุดรธานี  ยุคนั้นยังมี ผ.ก.ค. ปฏิบัติงานอยู่ในชนบทของภาคอีสาน  มีคนอำว่าที่อำเภอนี้เป็นแหล่งกำเนิดของ ผ.ก.ค. คือ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

                เมื่อได้ยินชาวบ้านพูดถึงชื่ออำเภอของตนเองด้วยสำเนียงถิ่นอีสาน  ผมฟังเป็น "ส่างคอม"  ผมถามครูใหญ่ว่า  ความหมายที่ถูกคืออะไร  ได้รับคำอธิบายว่า  คำว่า "ส่าง"  หมายถึงหนองน้ำ  ส่วนคำว่า "คอม" เป็นชื่อต้นไม้ยืนต้น  กรณีนี้คงเป็นเพราะมีต้นคอมใหญ่ขึ้นเด่นอยู่ริมหนองน้ำ เป็นที่สังเกตเห็นชัดให้คนเรียกรู้

                ถามขอความรู้ว่า  คำว่า ช้าง เสียงถิ่นอีสานพูดว่าอะไร?  ได้ยินคำตอบว่า  ออกเสียงว่า "ซ่าง" แต่อำเภอหนึ่งที่ปราจีนบุรี  เขียนชื่อว่า "บ้านสร้าง" ในพงศาวดารศรีอยุธยา  กล่าวถึงรัชกาลพระมหาจักรพรรดิว่าทรงมีช้างเผือก ๗ เชือก  และ ๔ เชือก  คล้องได้จากป่าเมืองปราจีนบุรี  จึงมีชื่อ บ้านช้าง ที่ปัจจุบันเขียนเป็น บ้านสร้าง   ผมถามถึงคำ "ก่อสร้าง"  ออกเสียงตามสำเนียงถิ่นอีสานอย่างไร  หูผมได้ยินเสียงคล้ายๆ คำว่า "ซ้าง"  แต่ไม่เหมือนทีเดียว  ฟังดูจะเป็นกึ่งเสียงวรรณยุกต์โทกับวรรณยุกต์ตรี

                ต่อมาผมไปกับคณะฯ เข้าพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย  ชาวบ้านใช้ภาษาถิ่นรายงานว่าพวกเขาทำโครงการ "ฮั้วกิ๋นได้"  ข้าราชการในคณะตรวจหัวเราะคิกคักขัดจังหวะว่า "ก็เล่นฮั้วกันมันก็กินรวบซิ"   คำว่า ฮั้ว  ของชาวบ้านหมายถึง  รั้ว  ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ แนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชผักที่กินได้เป็นแนวแทนรั้วบ้าน  แต่คนภาคกลางอาจเข้าใจว่าคือคำว่า ฮั้ว  ที่หมายความว่า สมยอมกันในการประมูลงานกับภาครัฐ

                ตัวอย่างประสบการณ์ที่เรียนมาเป็นส่วนเล็กน้อยนัก  สิ่งที่ผมขอเสนอให้พิจารณา คือ

                ขอให้ราชบัณฑิตยสถาน  โปรดพิจารณาว่าสมควรหรือไม่ที่จะกำหนดวิธีการเขียนคำภาษาถิ่น(ใด)ให้ถูกต้องตามหลักของภาษาเขียน  ไม่เขียนตามที่คนในท้องถิ่นออกเสียง  เช่น  ถ้าเสียงถิ่นอีสานฟังได้ว่า "ควมฮ่วมมือ"  เวลาเขียนต้องเขียนเป็น "ความร่วมมือ"  หรือเสียงถิ่นเหนือถามเวลาซื้อขายบุหรี่ฟังว่า "ปูรีซองตะฮือ"  เวลาเขียนก็ต้องเขียนตามหลักภาษาไทย คือ "บุหรี่ซองเท่าฤา"  เพราะคำที่ได้ยินว่า "ตะฮือ" นั้นกร่อนมาจากคำว่า "เท่าฤา"  ชาวเชียงใหม่มักยึดเสียงเป็น "เต้าฮือ" แต่ชาวลำปาง แพร่ น่าน พะเยา ฯลฯ  เสียงห้วนกว่าเป็น "ตะฮือ"  อย่างไรก็ตามเมื่อเขียนคำนี้ก็ควรเป็น "เท่าฤา"  ไม่ควรเขียนตามเสียงที่ได้ยินคือ เต้าฮือ/ตะฮือ

                 ผมทราบว่าภาษาจีนนั้น  มีสำเนียงภาษาถิ่น เช่น แต้จิ๋ว  แคะ  ไหหลำ  กวางตุ้ง  ฮกเกี้ยน  ฯลฯ  ซึ่งเสียงพูดต่างกันมาก  แต่พอเขียนเป็นตัวอักษร  ทุกสำเนียงภาษาจะเขียนเหมือนกัน อัศจรรย์แต่ไม่เกินวิสัยที่ปราชญ์จีนได้คิดและทำมาแต่โบราณจนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่  ผมเชื่อว่า  ปราชญ์ทางภาษาไทยก็สามารถทำเช่นภาษาจีนได้เช่นกัน  และปราชญ์ทางภาษาไทยทั้งนั้นก็รวมอยู่ในราชบัณฑิตยสถานนี้แล้ว

                 จึงกราบอาราธนาได้โปรดพิจารณาริเริ่มดำเนินการ  หากเนิ่นช้าภาษาถิ่นไม่เพียงสูญหาย  ภาษาไทยก็พลอยจะเพี้ยนไปด้วยกระมัง