Sunday, August 13, 2017

กวีสามกรุง

               เมื่อก่อนปี ๒๕๒๔  ย้อนหลังขึ้นไป  ถ้าท่านมีโอกาสเข้าไปสังเสวนาในวงการภาษาไทย  วงการวรรณศิลป์ หรือวงการนักหนังสือพิมพ์  จะได้พบเห็นชายร่างเล็กคนหนึ่ง  น้ำหนักประมาณ ๕๐ กิโลกรัม  สูงไม่เกิน ๑๕๕ เซ็นติเมตร  สวมแว่นตาสายตาสีชาอ่อนๆ กรอบทอง  ท่าทางของท่านผู้นี้คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง  ขัดกับอายุของท่านที่เกินวัยเกษียณไปมากแล้ว  ยิ่งได้ยินท่านพูดจาปราศรัยหรืออภิปรายบนเวทีแล้วยิ่งน่าทึ่งที่คนชราปูนนั้น  กลับพูดจาเสียงดังฟังชัดไม่มีติดขัด  แสดงถึงกระแสความคิดลื่นไหลอย่างดีมีความมั่นใจในตัวเองสูง  ทั้งคุยสนุกมีมุขขำขันที่พร้อมด้วยเนื้อหาสาระความรู้รอบด้าน  จนบรรดาครูบาอาจารย์ นักหนังสือพิมพ์รุ่นหลัง และนักกลอนทั้งหลาย  เรียกท่านด้วยความคารวะว่า "อาจารย์"  ทั้งๆ ท่านไม่เคยสอนหนังสือที่ไหนๆ  ถ้าใครถามท่านว่าจบปริญญาอะไร  ท่านจะบอกว่า "ผมจบ ป.๔"  แต่แท้จริงท่านเรียนจบมัธยมปีที่ ๔ โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) โดยเรียนชั้นต้นจากบ้านเกิดที่ บ้านช้าง ตำบาลศาลาลอย  อำเภอท่าเรือ  พระนครศรีอยุธยา  "ครูนิล"  ผู้บิดาก็ฝากให้มาอาศัยร่มใบบุญแห่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  เจ้าอาวาสวัดนี้  ด้วยครูนิลเคยบวชเรียนมีความรู้ดีถึงขั้นเป็นครูสอนบาลีพระเณรที่วัดศาลาลอย และวัดสัก  ในตำบลนั้น  คุ้นเคยกับสมเด็จฯ มาก่อน

               ออกจากโรงเรียนเมื่อต้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ แล้วก็ทำงาน  แต่ไม่เป็นหลักเป็นฐานอะไร  เพียงได้อาศัยเลี้ยงตัวและพอมีเงินเหลือไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมความรู้ภาษาอังกฤษ  ต่อมาเข้าทำงานที่ห้างสยามอาคีเต็กซ์  ย่านสี่แยกเอส.เอ.บี.  อันเป็นห้างใหญ่ในกิจการรับเหมาก่อสร้างของไทยในยุคนั้น  ทำงานห้างได้เงินเดือนงามเพียงปีเศษ   ก็รวบรวมได้ก้อนหนึ่งและประสบการณ์  แต่เพราะแรงใฝ่ฝันทะเยอทะยานที่จะได้ไปเห็นเมืองฝรั่งนั้นมากเหลือเกิน   จึงทิ้งเงินเดือนงามเสีย  ลาออกไปเผชิญโชค  คือตีตั๋วเรือเดินสมุทรไปทำงานอยู่สิงคโปร์  หวังจะทำงานหาทุนสะสมเพื่อเดินทางต่อๆ ไปให้ถึงเมืองฝรั่งจงได้  แต่อยู่สิงคโปร์ราว ๘ เดือน  สู้ค่าครองชีพที่สูงลิ่วกว่าเมืองไทยไม่ไหว  จึงต้องถอยกลับ แต่ก็ได้รับประสบการณ์และโลกทัศน์กว้างไกลเป็นกำไรชีวิตเกินกว่าคนหนุ่มวัย ๒๐ เศษ  ในสมัยนั้นจะพีงมีได้

               คนหนุ่มอายุ ๒๒ ปีที่เพิ่งกลับจากสิงคโปร์  จึงเข้าทำหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง  ด้วยภาษาอังกฤษใช้ได้  ภาษาไทยก็ดี  จึงมีชื่อเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "วายาโม" (แปลว่า "ความเพียร")  เผอิญบทความวิจารย์เบื้องสูงเลยเถิดไป  พาให้บรรณาธิการหนุ่มต้องไปอยู่ในคุกนานราว ๒ ปีเศษ  นับเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยคนแรกที่ถูกจำคุกเพราะการทำหนังสือพิมพ์

               สู่อิสรภาพแล้วไม่เปลี่ยนอาชีพ  คงเปลี่ยนแต่สังกัดไปหลายๆ ฉบับ เช่น  "บางกอกการเมือง"  "ไทยหนุ่ม"  "ไทยใหม่"  และแห่งสุดท้ายที่อยู่นานกว่า ๒๐ ปี คือ "หนังสือพิมพ์ชาวไทย"  ซึ่งตั้งสำนักงานและโรงพิมพ์อยู่ที่สี่แยกแม้นศรี   เมื่อประมาณปี ๒๕๐๒  บรรดาผู้รักการแต่งบทร้อยกรองจำนวนหลายสิบคน  ซึ่งล้วนปรากฏผลงานในหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนต่างๆ เช่น  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์   สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์   สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ  ประยอม ซองทอง  สมประสงค์ สถาปิตานนท์  วิจิตร ปิ่นจินดา  สำรอง สิทธิแพทย์  จำลอง สนธิรัตน์  อนันต์ สวัสดิพละ ฯลฯ  เป็นต้น ได้รวมกันจัดตั้งองค์กรขึ้น  ชื่อว่า "ชมรมนักกลอน"  ซึ่งต่อมาวิวัฒนาการเป็น "สมาคมฯ"  ในปัจจุบัน  ในตอนแรกๆ นั้น ผู้รักการแต่งกลอนได้เลือกตั้งกันเป็นประธานชมรมฯ ด้วยแล้ว  บรรดานักกลอนรุ่นน้องรุ่นหลานในชมรมฯ ต่างเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์เชิญอาจารย์เป็น "ประธาน"  แต่มิใช่เพราะอาวุโสมาก  หากด้วยฝีมือความสามารถในการแต่งบทร้อยกรองได้ทุกประเภทกวีวัจนะ  โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย เพลงพื้นเมือง  ท่านรับหน้าที่ประธานฯ อยู่ราว ๒ ปี  ก็ขอออกมาเป็นที่ปรึกษา  เพื่อให้หาคนรุ่นหนุ่มรุ่นใม่ขึ้นมาเป็นผู้นำชมรมต่อไป

               เมื่อชราภาพแล้ว อายุเกิน ๖ รอบ  หนังสือพิมพ์ "ชาวไทย" ที่สี่แยกแม้นศรีก็กำลังจะเปลี่ยนเจ้าของและคณะผู้จัดทำ  ซึ่งข่าวว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงตามประสาของ "คลื่นลูกใหม่"  ส่วนอาจารย์เป็น "คลื่นลูกเก่าที่อ่อนล้า" ก็ต้องค่อยๆ ชูมือไปสู่งานที่เหมาะสมแก่อัตภาพและพุฒิภาพ

               วันหนึ่ง มีหนังสือราชการประทับตราสำนักราชบัณฑิตยสถาน ลงพระนาม "นราธิป" มีวงเล็บกำกับใต้ลายเซ็นนั้นว่า "ศาสตราจารย์พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์" ในฐานะประธานกรรมการราชบัณฑิตยสภา  ทรงเชิญอาจารย์ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและวัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักปรากฏต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางให้เข้าร่วมคณะกรรมการชำระพจนานุกรม  อาจารย์ภูมิใจและพึงพอใจงานนี้อย่างมากที่สุดที่จะได้ถ่ายทอดวิชาความรู้และประสบการณ์ค่อนศตวรรษของท่านฝากเอาไว้แก่อนุชนรุ่นหลัง  ซึ่งเป็นเพียงอนุสรณ์สิ่งเดียวที่จะฝากไว้ให้เสมือนมรดกได้  ทรัพย์สินเงินทองแม้แต่บ้านช่องที่สำนักของตนเองท่านก็ไม่มีตลอดชีวิต  เป็น "ราชบัณฑิต" อนาถาจริงๆ  ตรงข้ามกับความภาคภูมิและความกระตือรือล้นในงานใหม่นี้มากมายใหญ่หลวงนัก  ขยันประชุมและนำเรื่องจากที่ประชุมกลับไปคิดการบ้านอีกต่างหาก  บางถ้อยคำท่านคิดหาข้อความที่จะใช้นิยามไม่ได้ก็บ่อยไป  บางทีศิษย์คนสนิทมาเยี่ยม  ท่านก็ลองถามดู  พอศิษย์เรียนไปตามตรงว่า "ผมให้คำอธิบายไม่ได้หรอกครับ"  อาจารย์เองก็ตันความคิดอยู่ก็จะร้องเสียงดังอย่างพอใจว่า  "เออ...ผมได้เพื่อนโง่คนนึงแล้ว  ผมนึกว่าจะโง่อยู่คนเดียวซะอีกแน่ะ"

                "อาจารย์อยู่เป็นโสดมาตลอดหรือครับ  ลูกหลานหรือญาติพี่น้องยังมีอีกไหม"  "เคยมีเมีย ๒ หน  หนละไม่เกินปีไม่มีลูก  หลานมีหลายคนอยู่ลพบุรี ๒ คน  ลูกพี่ชายพี่ย้วนน่ะ  ผมเดิมชื่อเยื้อน"  "ทำไมอาจารย์เลิกกับคุณยายเสียล่ะครับ"  "ผมเลิกกันแต่สมัยหนุ่มใหญ่โน่นแล้ว  ตอนนั้นงานการก็ไม่ได้เงินทองอะไรมาก  บางครั้่งก็ตกงานนาน  คนหนังสือพิมพ์ลำบากมาก  พวกเขียนนิยายก็พอรอดตัว  แต่ผมเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์บ้างก็ถูกฝ่ายบ้านเมืองเพ็งเล็ง  สันติบาลตามประกบตัว  ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ไม่เป็นแหล่งแห่งที่แน่นอน  ชีวิตครอบครัวมันก็ปฏิหงอดไป"   "อาจารย์เคยอยู่ทไหนบ้างครับ"  "บ้านเดิมที่กรุงเก่า  เข้ากรุงเทพฯ อาศัยวัดเลียบ  เมื่อสมเด็จตามรณภาพแล้วก็ยังอาศัยอยู่กับมหาบุญ ธัชประมุข  ออกมาทำงานก็ไปเช่าบ้านบ้าง  หอพักบ้างหลายแห่งหน  อยู่ฝั่งธนก็เช่าบ้านแถววัดเวฬุราชินไม่เคยอยู่เมืองอื่นอีก"  "อาจารย์เป็นชาวกรุงเก่าอพยพมาก็อยู่อีก ๒ กรุงคือ กรุงธนบุรีกับกรุงเทพฯ  ก็เป็นชาวสามกรุงซีนะครับ...อาจารย์ครับ  กรุณาช่วยเกลาความเรียงให้ผมสักครั้งเถิดครับ"