Tuesday, August 8, 2017

ผลตำลึงกับสารส้มรักษา "นิ่ว" ในกระเพาะปัสสาวะ

             พ่ออ้วน ไชยธาน  ลุงเขยของผมเป็นหมอแผนโบราณหรือที่ปัจจุบันเรียกว่า  หมอเมือง  ลุงสืบตำราหมอมาจากตระกูลและแสวงหาประสบการณ์เพิ่มเติมอีกหลายสิบปีจากการรักษาคนไข้และแลกเปลี่ยนวิชากับเพื่อนร่วมอาชีพรายอื่นๆ ตลอดมา  ลุงไม่มีลูกหรือหลานมาสืบสายวิชาแพทย์แผนโบราณ เมื่อตอนผมเรียนชั้นประถม  พอปิดเทอมผมมักถูกส่งตัวไปอยู่ที่บ้านลุง  ทุกเช้าเมื่อป้ากลับจากตลาด  ลุงไม่มีลูกหรือหลานมาสืบสายวิชาแพทย์แผนโบราณ  เมื่อตอนผมเรียนชั้นประถม  พอปิดเทอมผมมักถูกส่งตัวไปอยู่ที่บ้านลุง  ทุกเช้าเมื่อป้ากลับจากตลาด  แม่ของผมซึ่งอพยพไปค้าขายอยู่ย่านตลาดนั้นจะฝากกับข้าวและขนมที่ผมชอบกินมาให้ลูกชายจอมซนด้วย

              ผมมีโอกาสคลุกคลีกับยาสมุนไพรหรือยาพื้นเมือง หรือยาแผนโบราณแล้วแต่ใครจะเรียกอย่างไร  บางครั้งผมก็ช่วยลุงป้าไปเดินเก็บสมุนไพรที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้านและริมรั้วรอบๆ บ้าน บางคราวผมก็ช่วยลุงป้าโขลกตำยา   และบางทีผมก็ช่วยลุงจัดยา  แต่กลับเป็นภาระให้ลุงต้องย้อนกลับรื้อแต่ละถุงมาจัดบรรจุใหม่ให้ถูกต้อง  ลุงรักผมมากจึงใจดีมีแต่หัวเราะหึๆ  ขำที่เห็นผมเล่นสลับตัวยาถุงนั้นกับถุงโน้นวุ่นวายไว้  แต่ลุงยอดเยี่ยมมาก  เทออกมากองทุกถุงที่ผมนำไป(จัด)เบ่น  และลุงจัดใหม่ไม่นานก็เรียบร้อยเข้าที่หมด   ผมเห็นลุงเปิดดูตำรายาที่เขียนด้วยอักขระโบราณในเวลาที่จัดยาลงแต่ละถุง  ผมเคยพลิกดูตำราเหล่านี้แต่อ่านไม่ออกเลย  ไม่เหมือนตัวหนังสือที่ผมเรียนในห้องเรียนสักหน่อย  ผมอยากรู้ว่าตำราเขียนอ่านอย่างไรบ้าง  ลุงก็อ่านให้ฟังเป็นตัวอย่าง  ผมจำตำรายาได้ ๒-๓ อย่างที่จำได้เพราะมีส่วนของผักตำลึงเป็นองค์ประกอบด้วย   ทำให้ผมเข้าใจว่าเหตุใดเถาตำลึงจึงพาดรั้วรอบบ้านของลุงเพราะเถาตำลึงนี่แหละเป็นวัตถุดิบสำคัญที่สุดในการผลิต "ยาขาง" แก้ไข้ร้อนใน

              "ยาขาง"  ที่กล่าวถึงนี้เป็นยาเม็ดลูกกลอนปั้นเป็นเม็ดเล็กๆ เท่าปลายนิ้วก้อย  กรรมวิธีการผลิตง่ายมากๆ คือ  หาเถาตำลึงมาแล้วหั่นเป็นแว่นๆ บางๆ นำใส่ถาดหรือกระด้ง  ตากแดดจนแห้งสนิทแล้วนำมาตำในครกหินใบใหญ่  ตำจนยุ่ยเป็นผงละเอียดเหมือนแป้ง  พวกกากหรือเศษเส้นใยถูกร่อนตะแกรงทิ้งไปจนหมด  ต้มน้ำเล็กน้อยจนเดือดแล้วยกลงวางไว้  นำ "ขาง"  คือแผ่นเหล็กหล่อเผาไฟจนร้อนแดงแล้วคีบใส่ลงในหม้อต้มน้ำ  เสียงดัง "ฉ่า"  ค่อยรินน้ำเหยาะลงในผงเถาตำลึงพอเปียกๆ ผสมแป้งข้าวเจ้าลงไป  แล้วคนๆ ให้เข้ากันจนมีลักษณะหมาดๆ  ถ้าแห้งไปก็เติมน้ำ   ถ้าแฉะไปก็เติมผลเถาตำลึงกับแป้งข้าวเจ้า  เมื่อส่วนผสมได้ที่  ป้าก็จะปั้นเป็นยาลูกกลอนเม็ดเล็กๆ  ขนาดปลายนิ้วก้อยใส่ถาดและกระด้งนำไปตากแดด  แดดจัดๆ วันเดียวก้แห้งได้ที่  แล้วเก็บใส่ขวดโหล

                เด็กๆ ชาวล้านนาเมื่อหลายสิบปีก่อนล้วนรู้จักรสชาติของ "ยาขาง"  กันทั่วหน้า  เว้นแต่เด็กลูกจีนอาจจะใช้ "ยาขม"  เด็กๆ ภาคกลางก็ซด "ยาเขียว"  แทนเพราะยาทั้งสามชนิดนี้เป็น "ยา ครอบจักรวาล"

                ปกติอาหารมื้อเช้าของลุงและป้าจะมีผักนึ่งจิ้มน้ำพริกเป็นหลักผักตำลึงนึ่งยอ่มยืนพื้น   พอมีผมมาพักอยู่ด้วย  ยอดตำลึงก็ถูกแบ่งมาเป็น "ต้มจืดยอดตำลึงหมูสับ"  บ้าง  บางมื้อก็ยอดตำลึงคั่วไข่  ที่ต้องคั่วเพราะบ้านลุงป้าไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหารใดๆ ทั้งสิ้น   ครั้งหนึ่ง ผมไปเก็บผลตำลึงชนิดต่างๆ  คือทั้งผลสุกสีแดงสดสวย  ผลแก่สีเขียวอื๋อ  และผลอ่อนสีเขียวอ่อนไปให้เพื่อนผู้หญิงข้างบ้านนำไปเล่นขายข้าวขายแกง  ลุงเห็นเข้าจึงบอกผมว่า  คราวต่อไปให้เลือกเก็บเฉพาะผลสุกๆ ไป  ส่วนผลแก่และผลอ่อนๆ อย่าเพิ่งเอาไปเล่น  ผมจึงถามว่าเพราะอะไรจึงไม่ให้เก็บไปเล่น?

                ลุงตอบว่า  "ผลตำลึงแก่ๆ ใช้แก้โรคนิ่วในกะเพราะเยี่ยวได้น่ะซีลูก!  ครั้นตอนบ่ายๆ เราอยู่บนเรือน  ผมก็ถามลุงอีกว่าผลตำลึงแก่ใช้รักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่ลุงบอกนั้นมีในตำราหรือเปล่า...?  ลุงจึงหยิบตำรามาอ่านให้ผมฟัง
ผลตำลึง

ยาส้ม



                "ให้ใช้ผลตำลึงแก่ๆ ๕-๗ ผล  กรีดผลตำลึงทั้งหมดลึกลงไปครึ่งผลแต่ไม่แยกออกจากกัน
                ตำสารส้มเป็นผง  โรยลงในร่องที่กรีดไว้ในผลตำลึงทั้งหมด  จนผงเต็มร่องแล้ว  ใช้ด้ายพันรอบผลตำลึง  แต่ไม่จำเป็นต้องพันชิดกันนัก
                นำผลตำลึงทั้งหมดไปย่างไฟอ่อนๆ  (อาจใช้ไมโครเวฟแทน) โดยหงายร่องขึ้น  คอยดูผงสารส้มละลายจนหมดแล้วยกตะแกรงย่างออกจากไฟ  รอสักพักให้คลายร้อนลงเหลืออุ่นจัดๆ  แล้วใช้ผ้าขาวบางห่อผลตำลึงทั้งหมด  คั้นเอาน้ำออกมา (จะได้สักถ้วยชาจีน)
       
                ให้คนเป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะดื่มรวดเดียว (ขมนิดๆ) 

                วันหนึ่ง  ทำกิน ๓ หน  ภายใน ๒ วัน  ถ้าเม็ดนิ่วอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจริง และเม็ดใหญ่ไม่เกินหัวแม่มือของผู้ป่วย  จะต้องมีเม็ดนิ่วหลุดออกมาทางท่อปัสสาวะ"



                 สมัยก่อน ๒๔๙๐ การรักษาโรคนิ่วโดยวิธีผ่าตัดยังไม่ใช่เรื่องที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจะทำได้ง่ายๆ  นอกจากเครื่องมือและเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอ  บางจังหวัดหมอไม่ชำนาญการผ่าตัด โดยเฉพาะคนไข้หรือญาติคนไข้กลัวการผ่าตัดเพราะหวาดเสียว  นึกเห็นภาพของหมูถูกชำแหละบนเขียงยังไงยังงั้นกระมัง   ความจริง (นายแพทย์) หมอศรีรัตน์ บุญเฉลียว  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปางคนแรกในยุคนั้นเป็น  "ศัลยแพทย์"  ที่เก่งมากจากวิทยาลัยแพทย์ศิริราช  แต่ถ้าคนไข้ไม่ยอมมาให้ผ่าตัดซะแล้ว  หมอจะเก่งปานใดก็ได้แต่เก็บเครื่องมือ และฝีมือเอาไว้เอง

                  ช่วงปี ๒๕๐๒ - ๒๕๐๕  ผมทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง  มีบราเดอร์หรือภารดา ๔ รูป  เป็นชาวสเปน ๒ รูป  ไทย ๒ รูป  บราเดอร์ชาวสเปนรูปหนึ่งเป็นอธิการบดี  อีกรูปหนึ่งทำหน้าที่เหรัญญิก  ผมและครู (มาสเตอร์) จะรับเงินเดือนเดือนละ ๒ หน  ผมกับเพื่อนสนิทชื่อคุณวิศิษฐ์ สมพงษ์  มักจะรับเงินหลังสุดเพราะเรายังเป็นโสดไม่รีบกลับบ้าน และยังช่วยเป็นครูฝึกทีมกีฬาให้นักเรียนในช่วงหลังเลิกเรียนด้วย  คุณวิศิษฐ์ดูแลทีมตะกร้อ  ผมดูแลทีมวอลเลย์บอล  เย็นวันเสาร์หนึ่ง  ภารโรงปั่นจักรยานมาตามตัวเราให้รีบไปรับเงินเดือน  ผมนึกแปลกใจว่าปกติผมจะไปรับตอนใกล้จะ ๖ โมงเย็น  เมื่อซ้อมกีฬาเสร็จแล้ว  แต่นี่ยังไม่ถึง ๕ โมงเย็น  ผมซ้อนท้ายจักรยานที่ภารโรงปั่นพลางตอบข้อสงสัยที่ผมถามพลางว่า "บราเดอร์ (IIdefonso) ไม่สบาย จะรีบไปหาหมอ"

                   พอผมโผล่เข้าไปให้ห้องทำงานของบราเดอร์  ก็เห็นเจ้าของห้องซึ่งปกติก็หน้าแดงๆ อยู่แล้ว  วันนั้นหน้ายิ่งแดงก่ำใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่คลุมไหล่นั่งตัวสั่นครางฮือๆ อยู่บนเก้าอี้นวมตัวใหญ่ ผมลงชื่อในบัญชีจ่ายเงินพร้อมทั้งเรียนถามว่าบราเดอร์ป่วยเป็นอะไร?

                   "บราเดอร์ป่วยเป็นนิ่วกำลังปวดและมีไข้  จะรีบไปหาหมออีกครั้ง  หมอบอกว่าจะจัดยาให้อีกชุด  ถ้าไม่หายละก็วันจันทร์ต้องผ่าตัด​...!"
                    บราเดอร์รูปร่างอ้วยใหญ่ปกติเสียงดัง  แต่วันนั้นเสียงอ่อยๆ สลับเสียงครางน่าสงสาร  ผมจึงเรียนปรารภเชิงถามด้วยความเกรงใจว่า
                    "ถ้าผ่าตัดก็คงหายป่วยนะครับ  แต่บราเดอร์อยากผ่าตัดไหมล่ะครับ!?"
                     บราเดอร์เบิกตาโต  ยักไหล่ร้องว่า "ถ้ามีทางเลือก  ใครก็ไม่อยากถูกผ่าตัด!"

                    ผมจึงเรียนเสนอว่า  "บราเดอร์จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่นะครับ  ลุงของผมเป็นหมอเมืองแบบโบราณ  มีตำรายาง่ายๆ  รักษาโรคนิ่วได้"

                    บราเดอร์หยุดครางชั่วขณะ  พยักหน้า  บอกให้ผมรีบแจงตำรายา  พอผมบอกไป บราเดอร์ปรารภว่า "ไม่มีอะไรน่ากลัว  ผลตำลึงกับสารส้มกินได้ทั้งนั้น  ประเดี๋ยวมาสเตอร์ช่วยบอกภารโรงให้เข้าใจวิธีทำด้วยนะ  บราเดอร์จะรีบไปหาหมอ"

                     พอผมออกจากห้อง  ก็เจอภารโรงที่พาคุณวิศิษฐ์มารับเงินเป็นคนสุดท้าย  ผมจึงอธิบายวิธีประกอบหรุงยาแก้โรคนิ่วให้ภารโรงจนเป็นที่เข้าใจชัด  และบอกว่าให้ทำกินวันละ ๓ เวลาหลังอาหาร   ออกจากโรงเรียน  ผมแวะไปบ้านลุงและป้าซึ่งเวลานั้นท่านล่วงลับไปแล้ว  พี่สาวของผมซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมเข้าอยู่แทน  ผมขอยืมตำรายาเรื่องนี้ไปขอให้หลวงพ่อที่วัดปงสนุกด้านเหนืออ่านให้ผมฟัง  เพื่อตรวจสอบทบทวนความจำ  อ้อ ... ถูกต้อง

                     เช้าวันจันทร์  พอผมไปถึงโรงเรียนก็เจอภารโรงคนเดิมยิ้มรออยู่ที่ห้องธุรการซึ่งผมต้องไปลงชื่อในสมุดมาทำงาน  บอกว่าบราเดอร์หายป่วยแล้ว  นึกแล้วเชียวตั้งแต่เห็นหน้าภารโรงยิ้มเผล่แล้ว  บอกให้ผมรีบไปพบบราเดอร์   พอผมเปิดประตูเข้าห้องบราเดอร์  ท่านก็ลุกขึ้นยื่นมือมาให้ผมจับ กล่าวเสียงดังสดใส  "ขอบใจมาสเตอร์มากๆ  วิเศษจริงๆ  นี่ไง  เม็ดนิ่ว!"

                     บราเดอร์เอี้ยวตัวไปด้านหลัง  หยิบขวดกลมป้อมๆ ที่นิยมใช้ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์มาตั้งบนโต๊ะให้ดู   ในขวดมีน้ำยาแบบใช้ดองซากสัตว์อยู่เกือบเต็ม  แต่ที่ก้นขวดนั้นมีก้อนหินผิวเรียบเกลี้ยงเกลารูปทรงยาวรีอยู่ ๒ เม็ด  ขนาดปลายนิ้วก้อยกับขนาดปลายนิ้วโป้ง (ของผม)   บราเดอร์เล่าว่า  ตอนที่ผมบอกตำรายาให้นั้นก็ไม่อยากเชื่อ  แต่เมื่อค่ำวันเสาร์พอกลับจากคลินิก  ภารโรงเอาน้ำคั้นจากผลตำลึงมาให้ดื่ม  พอรุ่งเช้าตื่นมา  รู้สึกปัสสาวะสะดวกขึ้น  คิดว่าคงเพราะผลจากยาที่หมอจัดให้  แต่ก็ยังดื่มน้ำผลตำลึงอีก ๒ ครั้ง  ตอนเย็นวันอาทิตย์รู้สึกปวดปัสสาวะแต่ก็ยังดื่มเวลาราวครึ่งชั่วโมงจึงลุกไปปัสสาวะ (ห้องส้อมของบราเดอร์มีโถสำหรับปัสสาวะ) ปัสสาวะไม่ยอมออกจึงออกแรงเบ่งสักพัก  ปัสสาวะทะลักออกมาท่วมท้น  มีเสียงดัง "แป๊ก แป๊ก"  สองหนที่โถรองรับปัสสาวะ  เมื่อปัสสาวะเสร็จรู้สึกโล่งสบาย  อาการปวดหน่วงที่หัวเหน่าซึ่งร้าวไปถึงรอบปั้นเอวนั้นหายหมด  บราเดอร์จึงพบว่ามีหิน ๒ เม็ดออกมาพร้อมปัสสาวะตามที่ได้เก็บมาดองไว้นี่แหละ

                     ประมาณปี ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙  ผมทราบว่าเพื่อนร่วมรุ่นคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งป่วยมีอาการคล้ายเป็นนิ่ว  ผมจึงโทรศัพท์ไปเล่าประสบการณ์ของผมให้ฟัง  ปรากฏว่าเขาได้ไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแล้ว  ใช้เงินไปราว ๗ หมื่นบาท

                     ต่อมาอีกหลายเดือน  เพื่อนของผมคนนี้ก็โทรศัพท์มาจากจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นพาณิชย์จังหวัดอยู่ที่นั่นมาเล่าให้ฟังว่า  พ่อค้าคนหนึ่งในตลาดป่วย  มีลักษณะอาการคล้ายกับที่เขาเคยเป็น  ได้ไปตรวจรักษามาหลายโรงพยาบาลก็ยังไม่หาย  พาณิชย์จังหวัดรู้จักชอบพอกับเขาจึงบอกตำราตำลึงกับสารส้มย่างมาคั้นกิน  พ่อค้าคนนั้นได้ไปทำกินอยู่ ๒ วัน ๕ มื้อ  ก็ปัสสาวะเบ่งเอาเม็ดหิน (นิ่ว)  ออกมาได้หลายเม็ดหายป่วยแล้ว  ที่บอกมานั้น  นอกจากจะแจ้งความขอบคุณจากพ่อค้าคนนั้นมายังผมแล้ว  เขายังเอากระเช้าเครื่องกระป๋องผลไม้มาคารวะขอบคุณด้วย  รายละเอียดเรื่องนี้ให้สอบถามได้จากคุณปาฏิหาริย์ บุญสนอง อดีตพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์  และมหาสารคามเกษียณแล้ว