แต่ถึงจะเรียนต่างโรงเรียนต่างหลักสูตร เลิกเรียนแล้วเราก็มาเล่น(ซน)กัน แล้วแต่จะหาเรื่องอะไรมาเล่น บางครั้งเราไปวิ่งเล่นตามแผงลอยถาวรในตลาดสด ซึ่งตอนเย็นๆ ไม่มีลูกค้าแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็จะเก็บสินค้าไว้หมด เหลือแผงลอยซึ่งสร้างด้วยกระดานไม้เนื้อแข็งอย่างดี ยกพื้นสูงราว ๗๕ เซนติเมตร กว้างเมตรครึ่ง ยาวติดต่อกันเป็นช่วง ช่วงละประมาณ ๒๐ เมตร ปกติประตูตลาดสดจะปิด ๖ โมงเย็น หรือเมื่อเริ่มมืดค่ำ พวกเรารู้เวลาจึงจะเลิกเล่นและกลับออกจากตลาดสดไปก่อน "แขกยาม" จะปิดประตูตลาดสด ซึ่งเรารู้ข้อมูลว่าตามธรรมเนียม "แขกยาม" จะปิดประตูใดก่อนหลังในทั้งสี่ประตู เพื่อว่าอย่างช้าที่สุดเราจะออกทางประตูด้านไหนที่ปิดหลังสุด
ก่อนหน้านี้แม้เราจะรู้ว่าตลาดสดแห่งนั้นมี "แขกยาม" แต่เราก็ไม่เคยถูกไล่ออกจากตลาดสด เพราะเราจะออกไปก่อนปิดประตู กระทั่งค่ำวันหนึ่ง พวกเราเล่นซ่อนหากันสนุกมาก ยิ่งมืดค่ำยิ่งมันมากขึ้น จนกระทั่งประตูตลาดสดทั้งสี่ด้านปิดหมดโดยเราไม่รู้ตัว พอมีแขกยามมาไล่ พวกเราเพิ่งเคยเห็นตัวจริงของแขกยามซึ่งร่างอ้วนพุงโตสูงใหญ่ไว้หนวดเฟิ้ม ถือไม้กระบองหัวโลหะยาวสักเมตรเศษ สมัยนั้นหนังอินเดียชุด "รามเกียรติ์" เพิ่งเข้ามาฉาย และพวกเราได้ดูหนังเรื่องนี้ทุกคน พวกเราบางคนที่ขวัญอ่อน พอเห็นแขกร่างยักษ์ถือไม้กระบอกย่างเข้ามาถึงกับร้อง "เฮ้ย! ทศกัณฐ์มาแล้วโว้ย!" เราต่างพากันวิ่งวนกรูไปประตูด้านโน้นด้านนี้ "แขกยาม" คงจะเข้าใจ(ผิด) ว่าพวกเราดื้อดึงไม่ยอมออกจากตลาด อีกทั้ง "แขกยาม" ตัวโตอุ้ยอ้ายวิ่งไล่จับพวกเราซึ่งวิ่งเก่งหลบไปหลบมานั้นไม่ทัน จึงชักโมโห เหวี่ยงกระบองเลียดผิวแผงลอยเข้าใส่ข้อเท้าของเพื่อนผม ๒-๓ คน ที่ขึ้นไปวิ่งอยู่บนแผงลอย เจตนาขู่ขวัญไล่มากกว่าตั้งใจทำร้าย เผอิญคนที่อยู่ด้านหน้าเห็นก่อนจึงกระโดดหลบทัน แต่คนหลังหลบไม่ทัน กระบองจึงกระดอนมาโดนเหนือตาตุ่มถึงทรุดลงไปร้อง โอ๊ย! พอได้ยิน เพื่อนที่อยู่ข้างๆ ก็รีบดึงแขนประคองวิ่งหนีไปทั้งกลุ่ม ถึงคราวคับขันเพื่อนคนหนึ่งจึงพาวิ่งไปที่ร้านค้าซึ่งเป็นตึกแถวเปิดประตูได้ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งทางตลาดสด อีกด้านเปิดออกทางถนน จำได้ว่าชื่อร้าน "สินสมบูรณ์" ลูกสาวเจ้าของร้านคนหนึ่งชื่อ "คุณธิดา (สินสมบูรณ์) เรียนจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพื่อนคนหนึ่งเป็นญาติๆ กับทางร้านจึงให้พวกเราวิ่งผ่านออกจากตลาดสดไปได้สะดวก แต่เพื่อนที่บาดเจ็บนั้น ผมกับเพื่อนอีกคนต้องประคองไปส่งบ้าน ตลอดทางเจ้าหมอนี่ไม่ร้องสักแอะ แต่พอกลับไปถึงบ้าน "อาม่า" ถามว่าเป็นอะไรเท่านั้นแหละ มันร้องไห้โฮๆ จนพ่อแม่และพี่ๆ พากันตกใจมาล้อมวงฟังเหตุการณ์ "อาม่า" ตรวจดูแล้วกระดูกไม่หักหรือร้าว เพียงแต่เหนือตาตุ่มบวมแดงขนาดเท่าผลมะนาว เริ่มนูนออกมาอันเป็นผลงานของหัวกระบอง พวกเราที่ไปส่งเพื่อนเห็นว่าเขาปลอดภัยแล้วก็รีบกลับบ้านกัน
สามวันต่อมา เจ้าหมอที่บาดเจ็บนี้ก็มาชวนพวกเราไปวิ่งเล่นในตลาดสดอีก แต่พวกเรายังอกสั่นขวัญหายต่อฤทธิ์ของกระบอง "แขกยาม" จึงไม่เห็นด้วย ทั้งยังแปลกใจที่เพื่อนผู้เคยลิ้มรสกระบองแล้ว ทำไมจึงกล้าชวนพวกเราไปเสี่ยงอีก ผมถามว่า "ขาของแกยังเจ็บอยู่ไม่ใช่หรือ?"
เพื่อนงอแข้งขึ้น และเอานิ้วจิ้มตรงบริเวณเหนือตาตุ่มที่เคยบาดเจ็บ ปากก็บอกว่า "หายแล้ว นี่ไงไม่บวมไม่ช้ำ ไม่เจ็บแล้ว"
อืม ... จริงแฮะ เหนือตาตุ่มที่เคยเห็นบวมแดงนูนขึ้นมาเมื่อค่ำวานซืนนี้ บัดนี้ยุบหายเรียบเหลือเพียงรอยแดงจางๆ ถ้าไม่รู้มาก่อนก็ไม่สังเกตเห็นได้ พวกเราถามว่า "แกทำยังไงวะ หายบวมหายช้ำเร็วเชียว?" เพื่อนเล่าว่า "อาม่า" เอาน้ำตาลแดง (โอวทึ้ง) ซึ่งจะมีประจำบ้านของเขาอยู่เสมอ มาชงน้ำร้อนครึ่งชาวต่อน้ำตาล ๓ ช้อนโต๊ะ ให้ผู้บาดเจ็บดื่มขณะยังร้อนหรืออุ่นจัด แล้วเข้านอนห่มผ้าให้เหงื่อออก ให้ชงกินแบบนี้บ่อยๆ ๒-๓ ชั่วโมง/ครั้ง ภายใน ๒ วัน อาการฟกช้ำบวมตามร่างกายจะหายไป ข้อห้ามคือ หลังบาดเจ็บอย่าเพิ่งอาบน้ำ
น้ำตาลแดง |
เมื่อผมเข้าเรียนปีที่หนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๐๖ รุ่นพี่มาคุมพวกปีหนึ่งไปหัดร้องเพลงเชียร์ ยิ่งใกล้วันแข่งฟุตบอลประเพณี พวกกองเชียร์ก็ยิ่งถูกเคี่ยวหนักขึ้นๆ พอเสร็จงานฟุตบอลประเพณี พวกกองเชียร์อย่างผมก็มีอาการคออักเสบเจ็บบวมเสียงแหบเหมือนเป็ดตัวผู้แก่ๆ ไปตามๆ กัน เผอิญผมโชคดีที่รุ่งเช้าพี่สาวคือ "หุ่ยเจ้" มาเห็นอาการของผม ก็ให้ผมไปซื้อ "โอวทึ้ง" ครึ่งกิโลกรัมจากร้าน "เอี๊ยะเซ้งกงสี" ถนนเจริญกรุงใกล้ๆ วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) พี่สาวเอาน้ำร้อนชงน้ำตาลแดง ๓ ช้อนโต๊ะ น้ำครึ่งชามตราไก่ จนน้ำตาลละลายดีแล้ว จึงบีบน้ำมะนาวลงไป ๓ ผล คนๆ แล้วจิบดื่มจนหมด พี่สาวสั่งให้ทำแบบที่สอนนี้ดื่มบ่อยๆ ๒-๓ ชั่วโมง/ ครั้งตลอดวันอาทิตย์ ครั้นรุ่งขึ้นไปเข้าห้องเรียน ได้ยินเพื่อนๆ พูดเสียง "แหบเสน่ห์" ทั้งห้อง
คนเสียงปกติอย่างผมจึงถูกเพื่อนๆ แกล้งไล่เบี้ยว่าแอบหนีไปไม่ร้องเพลงเชียร์ (ใช่ไหมล่ะ?) เพื่อนๆ สนิทในกลุ่มยืนยันว่านอกจากผมจะร้องเพลงเชียร์ตลอดแล้ว เมื่อออกจากสนามกีฬา ยังเที่ยวไปท้าทายชาวสามย่าน (จุฬาฯ) "วี้ด บึ้ม!" ประชันกันด้วยแน่ะ แม้ผมจะมีตำรายาดีดังกล่าว แต่ผมก็ไม่ชอบใช้กำลัง ดังนั้นปีต่อๆ มาจึงไปทำงานชุมนุมวรรณศิลป์ และไปช่วยงานด้านการคิดถ้อยคำสำหรับ "แปรอักษร" ให้ฝ่ายอำนวยการกองเชียร์ ทำให้ได้รสสนุกและประสบการณ์อีกด้านหนึ่ง
ปี ๒๕๔๑ เกิดเหตุการณ์ "ไอ.เอ็ม.เอฟ. ยึดเมืองไทย" ผมเคยไปร่วมพิธีบริจาค(แจก) ข้าวสารของศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านทั่วไปที่ประสบภัยเศรษฐกิจ คุณอัครพงศ์ "เสี่ยเม้ง" อัครเกษมพร กรรมการฯ ทำหน้าที่โฆษกถือโทรโข่งตะโกนชี้แจงกติกาการจัดระเบียบให้ผู้รับบริจาคซึ่งมีจำนวนร่วมหมื่นคนนั่งอยู่เต็มพรืดรอบอัฒจันทร์ของสนามฟุตบอลของจุฬาลงกรณ์ฯ สามย่าน คุณอัครพงศ์ต้องทำงานหนัก ปากพูดอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นได้ เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีเคยมีการบริจาคของแก่ประชาชน ณ เทวสถานแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ผู้จัดงานกำกับดูแลอย่างไรไม่ทราบ เกิดรวนกันจนเป็นจลาจลคนเหยียบกันตายนับสิบ บาดเจ็บอีกหลายสิบคน
คณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เลือกใช้สถานที่กว้างขวางเหมาะสม กำหนดขั้นตอนเป็นระเบียบเรียบร้อย "เสี่ยเม้ง" ตัวโต เสียงดัง กำกับบทได้อย่างดี รุ่งขึ้น "เสี่ยเม้ง" ไปประชุมที่กระทรวงพาณิชย์ ก่อนประชุมแวะเอาเสียง "แหบเสน่ห์" ไปขอบคุณผมที่ไปร่วมงานแจกข้าวสาร
ผมจึงเขียนวิธีชงน้ำตาลแดงกับน้ำมะนาวให้เขาลองใช้รักษากล่องเสียงด้วย รุ่งขึ้นผมโทรศัพท์ไปถามข่าว ก็ได้ยินเสียงเกือบปกติแล้ว "เสี่ยเม้ง" บอกว่าตำราที่ผมบอกให้ ใช้ได้ผลและประหยัดเงินกว่ายาทุกชนิด รุ่งขึ้นอีกวันก็หายเกือบเป็นปกติ