Saturday, September 23, 2017

วิกฤตเป็นโอกาสในประวัติศาสตร์ไทย

        เมื่อธันวาคม ๒๕๓๗  ผมชวนเพื่อนร่วมงานมาเที่ยวพม่า ๓ วัน ๒ คืน  มีข้อมูลที่จะเรียนให้ทราบว่า  ชาวพม่าไม่ชอบให้เรียกชื่อประเทศว่า BURMA  หรือเรียกคน/ภาษาพม่าว่า BURMESE  เพราะเขาใช้คำว่า "เมียนม่าร์" (MYANMAR) แทนชื่อประเทศ/ ภาษาพม่า ใช้คำเดียวกันหมด

         ทั้งไม่ชอบให้คนเรียกชื่ออดีตเมืองหลวงว่า "ร่างกุ้ง RANGOON"  ควรเรียกชื่อว่า "ย่างกุ้ง YANGON" ด้วย   ถามว่าทำไมชาวพม่าไม่ชอบใจให้ใครเรียกขานชื่อดังกล่าวข้างต้น?  อ๋อ...! เพราะมันเป็นชื่อในยุคสมัยที่พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษช่วง ๒๔๒๘ - ๒๔๙๑

         เมื่ออังกฤษรบชนะพม่า  เข้ายึดครองและคุมพระเจ้าธีบ่อ (พงศาวดารไทยเรียกว่า "สีป่อมิ้น") พระนางสุพยลัต มเหสีและข้าราชบริพารอพยพไปกักบริเวณไว้ที่เมืองมณีปุระในอินเดีย
จนสวรรคตในเวลาต่อมา  และทำพิธีอย่างอนาถา  ไม่มีพระสงฆ์มาสวดศพ  ฝังพระศพอยู่ที่เมืองนั้นจนบัดนี้ (อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือเรื่อง "พม่าเสียเมือง" เขียนโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช)  ยิ่งไปกว่านี้จักรวรรดิอังกฤษยังยุบฐานะประเทศพม่าลงเป็น "แคว้นหรือมณฑล" หนึ่งผนวกเข้ากับประเทศอินเดีย ปกครองโดยอุปราชอังกฤษแห่งอินเดียในฐานะเมืองขึ้น  กรณีนี้ชาวพม่าเจ็บแค้นมาก  เพราะเป็นการหยามศักดิ์ศรีของประเทศ  ไม่เพียงแค่กระทำต่อสถาบันกษัตริย์เท่านั้น

        ตามแบบธรรมเนียมของจักรวรรดิอังกฤษ  ประเทศใดที่เคยเป็นเมืองขึ้น/ อาณานิคมของอังกฤษเมื่อได้รับเอกราช  ก็จะสมัครเป็น "สมาชิกแห่งจักรภพอังกฤษ"  เว้นเพียงพม่าประเทศเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมเป็นสมาชิก   ถามว่า ทำไมสถาบันกษัตริย์พม่าจึงประสบชะตากรรมอย่างน่าอนาถ?  ตอบได้ว่าเพราะวิบากกรรมที่ทำไว้แต่สมัยบรรพบุรุษ   ด้วยเมื่อกองทัพพม่าที่พระเจ้ามังระ (บรรพบุรุษของพระเจ้าธีบ่อ) ตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๓๑๐ นั้น   กองทัพพม่าได้คุมพระเจ้าอุทุมพร อดีตกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา  ซึ่งทรงผนวชเป็นภิกษุธุดงค์ไปกับขบวนเชลยศึกคนไทยไปยังพม่า

         สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดพระชนม์ชีพ  สวรรคตและฝังพระศพไว้ในสถูปใหญ่อันสมพระเกียรติอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ตั้งแต่ ๒๓๓๙ จนบัดนี้

         ถ้าได้ยินคนพม่าเรียกเราว่า "โยเดีย" ละก็อย่าแปลกใจ - อย่าดีใจว่าโก้พิลึก  เพราะเชลยศึกชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่พม่านั้น  ชาวพม่าเรียกคนไทยเหล่านี้ว่า "โยเดีย" (เพี้ยนมาจากชื่อ "อยุธยา")  เมื่อตอนผมและคณะเดินชมย่านชานเมืองย่างกุ้ง  เจอคนพม่าสูงอายุถามพวกเราว่า มาจากโยเดียใช่ไหม?  เรามาจากเมืองไทย!  บางคนพยายามขยายความว่า  เดิมเราชื่อประเทศสยาม...ผมจึงทำความเข้าใจว่า "โยเดีย" หมายถึงอะไร  แต่บัดนี้คนพม่าเกือบทุกคนเรียกเราว่า "คนไทย"

        การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์  เพื่อความรักและภาคภูมิใจในความเป็นชาติ  มิได้เรียนรู้เพื่อ "คลั่งชาติ"  ดังนั้น  เราต้องศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาความจริง  โดยปราศจากอคติ  เมื่อพบว่าสิ่งใดดีควรเป็นแบบอย่างแก่อนุชน  ก็รับไว้เป็นตัวอย่างอันดีงามสั่งสอนเด็กต่อไป   สิ่งใดไม่ดีเช่น  การทุจริตฉ้อฉลทรยศคดโกง  สำมะเลเทเมาไม่เอาใจใส่ในหน้าที่การงาน  ทำให้ชาติบ้านเมืองตกต่ำพ่ายแพ้  จนต้องเป็น "โยเดีย"  ในศัพท์ที่พม่าใช้เรียกอย่างดูหมิ่น  เราก็ต้องสอนเด็กอนุชนว่าอย่ากระทำสิ่งเลวร้ายที่จะพาให้ประเทศชาติและประชาชนต้องล่มสลายกลายเป็นชนเผ่า "โยเดีย" ยุคใหม่อีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ ๓ ก็ได้นะครับ

         ในปัจจุบัน  เราเห็นแรงงานพม่าหลายแสนคนมาทำงานในวิสาหกิจต่างๆ ในเมืองไทย  พึงเข้าใจว่าแรงงานเหล่านี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็น "ชนเผ่า" ต่างๆ เช่น มอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ฯลฯ ถือสัญชาติพม่า  ไม่ใช่ "ชนเผ่าพม่า"  ซึ่งคุมอำนาจการปกครองประเทศตลอดมาหลายศตวรรษ  ชนเผ่าพม่ามีถิ่นเดิมอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ  อารยธรรมต่ำกว่าแคว้นมอญ  แต่รบเก่งเด็ดขาดกว่าจึงลงมายึดครองอาณาจักรมอญตั้งตัวเป็นกษัตริย์ของทั้งพม่า-มอญมีเมืองหลวง คือ กรุงหงสาวดี(พะโค)

         พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้  กษัตริย์พม่าที่มายึดครองรวมอาณาจักรมอญเข้ากับพม่านี้  ทรงมีแม่ทัพใหญ่ที่เก่งกาจคือ "บุเรงนอง(บะยินหน่อง)"  ซึ่งต่อมาสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าบุเรงนอง  ทรงแผ่เดชานุภาพผนวกเอาแคว้นต่างๆ เช่น ไทยใหญ่  ยะไข่  ฯลฯ  รวมทั้งตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระมหาจักรพรรดิยอมจำนนเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๑๒  คุมองค์พระมหาจักรพรรดิ       พระมหินทราธิราช และขุนนางไทยจำนวนหนึ่งไปเป็น "เชลยศึก" ตั้งหมู่บ้าน "โยเดีย" เป็นครั้งแรกที่กรุง หงสาวดี

         ด้านกรุงศรีอยุธยา  พระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินใต้ร่มธงบุเรงนอง  ต้องส่ง "พระนเรศวร(พระองค์ดำ)"  ชันษา ๙ ปีไปอยู่ในราชสำนักบุเรงนอง (ในฐานะตัวประกัน แต่หน้าฉากเป็นราชบุตรบุญธรรม)   พระนเรศวรทรงศึกษาอยู่ในราชสำนักพม่า  เป็นโอกาสดียิ่งที่ได้รู้จัก "จุดแข็ง-จุดอ่อน" ของพม่าอยู่นาน ๖ ปี  จนที่สุดทรงสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนได้ใน พ.ศ. ๒๑๒๗  เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว  
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
Add caption



         พระมหาธรรมราชาสวรรคตปี ๒๑๓๕  สมเด็จพระนเรศวรทรงสืบราชสมบัติแต่ทรงแต่งตั้งพระอนุชา (พระองค์ขาว) เป็น "พระเอกาทศรถ" ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สอง  แต่การข่าวของพม่ากลับคาดว่าสองพระองค์จะไม่ลงรอยกัน   พระเจ้านันทบุเรง(ราชโอรสบุเรงนอง) จึงโปรดให้จัดทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา  โดยมีพระมหาอุปราชาราชโอรสเป็นผู้นำกองทัพราว ๑๔๐,๐๐๐ นาย  ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์

         ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไม่คาดว่าพม่าจะยกทัพใหญ่มารวดเร็ว  เพราะเพิ่งจะพ่ายไปไม่นานนี้  เผอิญไทยกำลังเตรียมกองทัพจะไปตีกัมพูชา  ซึ่งมักยกมารบกวนปล้นชายแดนไทยอยู่เนืองๆ จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยเตรียมพร้อมโดยโชคช่วย

         พระนเรศวรทรงรู้ดีว่าในช่วงฤดูนั้น  น้ำยังท่วมพื้นที่ราบของสุพรรณบุรี  พม่าต้องเดินทัพผ่านทางที่ตอนจึงทรงยกทัพที่มีกำลังพลน้อยกว่าครึ่งไปดักอยู่ปากดอน(เจดีย์) ซึ่งเป็นพื้นที่แคบ  บีบให้ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องแทบจะเรียงหน้าเข้าเผชิญกัน  ไม่อาจใช้กำลังพลที่มากกว่าโอบล้อมบดขยี้ยฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าได้  ยุทธวิธีเช่นนี้พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชเคยใช้ต้านทัพจักรพรรดิดาริอุสแห่งเปอร์เซียได้ผลดีเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อน

         ช้างทรงของพระนเรศวร  และช้างทรงของพระเอกาทศรถกำลังตกมัน  จึงวิ่งทะยานฝ่าเข้าไปประจัญหน้ากับทัพหลวงของพม่า  ซึ่งเพียบพร้อมทั้งแม่ทัพใหญ่  แม่ทัพหน้าพระนเรศวร และพระราชอนุชาทรงมีเพียงช้างพระที่นั่งกับนายทหารรวม ๑๒ คน  คือ  ทหารท้ายช้าง  ทหารกลางช้าง และทหารจตุรังคบาทป้องกันรักษาช้างเชือกละ ๔ นาย

         พระนเรศวรทรงมีวิกฤตชีวิตที่ต้องไปเป็นตัวประกันในราชสำนักพม่า  พระองค์สามารถตรัสภาษาพม่าได้ดี  จึงเป็นโอกาสใช้ภาษาพม่าประกาศท้ารบตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาด้วยวิธียุทธหัตถี (สู้รบกันบนหลังช้าง)  การใช้ภาษาพม่าย่อมทำให้นายทหารพม่าฟังรู้เรื่องทุกคน  เท่ากับบีบบังคับไม่ให้พม่าใช้วิธีรุมทำร้ายพระองค์ได้  เพราะถ้าพระมหาอุปราชาไม่กล้าสู้   หรือสั่งให้ "รุม" พระเกียรติยศก็หมดลงทันที   เมื่อแม่ทัพใหญ่ และแม่ทัพรองของทั้งสองฝ่ายไสช้างออกทำยุทธหัตถี  โอกาสที่พระนเรศวรจะชนะก็เกิดขึ้นทันที  ผลเป็นอย่างไร  คนไทยย่อมทราบกันดีแล้ว

         แต่เมื่อผม และคณะมานครย่างกุ้ง (เมื่อธันวาคม ๒๕๓๗) ขณะนั้นยังเป็นเมืองหลวง  คุณศรีวัฒน์ สุวรรณ  ทูตพาณิชย์ เล่าให้คณะของเราฟังด้วยความแปลกใจว่า  เมื่อก่อนหน้าไม่กี่วันนั้น  คณะนักศึกษา ว.ป.อ. ไทยมาศึกษาดูงาน  เขาติดตามไปฟังบรรยายสรุปของฝ่ายพม่า  อธิบดีกรมศิลปากรของพม่ากล่าวว่า  ตามที่ตนได้ศึกษาค้นคว้านั้น  พระมหาอุปราชาไม่ได้ถูกพระนเรศวรฟันสิ้นพระชนม์ แต่เพราะถูกทหารไทยที่พื้นดินลอบยิงด้วยปืนถึงสิ้นพระชนม์(ตะหาก)...คุณศรีวัฒน์รู้ดีว่าเรื่องนี้ไม่ตรงกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทย  แต่เห็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในคณะ ว.ป.อ. ก็ฟังเฉยๆ  จึงเก็บงำความสงสัยมาเล่าให้ผมและคณะฟัง

         พวกเราฟังแล้วก็ไม่อยากเชื่อว่าข้อมูลฝ่ายเราผิด  แต่ก็ไม่รู้ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร??  ผมจึงชวนให้พวกเรา ๒๐ กว่าคนร่วมกันคิดวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์  คือ

๑.   การศึกษาวิเคราะห์ต้องไม่มีอคติ
๒.   ทั้งฝ่ายพม่า-ไทย  ยอมรับตรงกันว่า พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
๓.   ปัญหาที่จะวิเคราะห์คือ  ใครเป็นผู้ปลงพระชนม์  พระนเรศวร?  หรือทหารไทยลอบยิงจากพื้นดิน?
๔.   ข้อเท็จจริงคือ ณ เวลากระทำยุทธหัตถีนั้น  ทหารไทยที่ตามเสด็จไปทางภาคพื้นดิน ก็คือ                 "จตุรังคบาท" ๘ คน  คนใดคนหนึ่งจึงอยู่ในข่ายถูกกล่าวหาจากฝ่ายพม่า
๕.   จตุรังคบาท  มีหน้าที่ป้องกันรักษาเท้า/ ขาช้างทั้ง ๔ ข้าง  มิให้อริราชศัตรูมารบกวนทำ
      อันตรายต่อช้าง  ดังนั้นนายทหารที่จะได้รับคัดเลือกมาทำหน้าที่ "จตุรังคบาท"  ต้องมี
      คุณสมบัติเบื้องต้นคือ  ต้องเข้มแข็งกล้าตาย  และใช้ดาบสองมือได้คล่องแคล่ว  เพราะดาบ
      คือ อาวุธประจำกายของเขา  ห้ามใช้อาวุธอื่น  เช่น  ทวน  ง้าว  เพราะเกะกะไม่คล่องตัว  ยิ่งปืน
      ก็ยิ่งไม่ควรใช้เลย  เพราะปืนในสมัยนั้นเป็นปืนคาบศิลา  ปากกระบอกยาวราว ๒ เมตร  บรรจุ
      กระสุนอย่างยุ่งยากทีละนัดๆ

      "จตุรังคบาท"  คนไหนจะใช้ปืนล่ะครับ?  ถึงอยากลองใช้  แม่ทัพก็ไม่ยอมให้ใช้แน่นอน
๖.   สรุปได้ว่าทหารไทยย่อมไม่ใช่ผู้ที่จะใช้ปืนลอบยิงพระมหาอุปราชาได้??   ในเมื่อพวกเขาไม่มี
      ปืนเป็นอาวุธ?