๑. ต้องนำเงินที่ได้นำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน การออกกฏหมายยกเว้นไม่ให้นำเงินภาษี หรือรายได้ตามลักษณะดังกล่าวส่งเป็นรายได้แผ่นดิน น่าจะขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญในขณะนั้น กฏหมายอาจเป็นโมฆะ
๒. ใครเป็นผู้จ่ายภาษี (บาป) ดังกล่าว? แน่นอน ย่อมเป็นผู้ (บริโภค) สูบบุหรี่ ดวดเบียร์ ดื่มเหล้า ฯลฯ คือ ผู้บริโภคจ่าย ตามหลักการ ผู้จ่าย/ซื้อ ย่อมเป็นเจ้าของสินค้าหรือรับบริการจากเงินที่ตนจ่าย ดังนั้น กลุ่มบุคคลผู้สูบบุหรี่ ผู้ดวดดื่มเบียร์เหล้า สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับบริการจากกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.)
๓. การที่จะให้ผู้จ่าย "ภาษีบาป" ได้รับบริการอย่างตรงตัว เป็นธรรม และได้ผลอย่างเห็นเป็นรูปธรรม ควรเป็นดังนี้
๓.๑. นำเงิน "ภาษีบาป" เข้าคลังแต่ผูกพันไว้ให้เป็น "กองทุนสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้เสพติดบุหรี่ เหล้า เบียร์ก่อนอื่น เมื่อเงินเหลือจึงใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติดอื่นๆ
๓.๒. ให้กระทรวงสาธารณสุข รับสมัครผู้ที่ต้องการลด ละเลิกการเสพติดบุหรี่ เบียร์ เหล้า โดยผู้สมัครเลือกว่าประสงค์จะเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลใด (เผื่อเลือกอีกบ้าง)
๓.๓. จัดบัญชีรายชื่อผู้สมัครแยกตามชื่อโรงพยาบาล และระบุประเภทของการเสพติด (บุหรี่? เบียร์? เหล้า?)
๓.๔. คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดมาตรฐานประมาณการว่า การบำบัดให้ได้ผลจน "ผู้เสพติด" สามารถเลิกเสพได้ จะต้องใช้งบประมาณหรือค่าใช้จ่ายเท่าไร?
เช่น สมมุติ : เลิกบุหรี่ ๕,๐๐๐ บาท/ราย
เลิกเบียร์ ๑๐,๐๐๐ บาท/ราย
เลิกเหล้า ๒๐,๐๐๐ บาท/ราย
๓.๕. จัดสรรงบประมาณให้เป็นค่าบำบัดรักษาในอัตรา ๕๐% จัดสรรเป็นรางวัลไว้ให้แก่ผลสำเร็จในการบำบัด โดยเจาะจงให้เป็นกำลังใจ (หรือรางวัลล่อใจ) แก่ผู้รับการบำบัด เช่น สมมุติ เลิกสูบบุหรี่ได้รับรางวัลตอบแทน ๒,๕๐๐ บาท เลิกเบียร์ได้รางวัล ๕,๐๐๐ บาท เลิกเหล้าได้รางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท
๓.๖. ทั้งนี้ ให้จัดคณะจาก ส.ส.ส. ไปตรวจติดตามผลว่า "ผู้รับบำบัด" เลิกได้จริงภายใน ๑ ปี ไม่เสพอีกจึงจ่ายได้
๓.๗. ทั้งนี้ผู้ขอรับบำบัดย่อมมีเพียงจำนวนหนึ่ง ทำให้มีเงินกองทุนเหลือจากการใช้บำบัดผู้ติดบุหรี่ เบียร์ เหล้า ก็ควรนำส่วนที่เหลือไปบำบัดผู้เสพติดยา หรือสิ่งเสพติดผิดกฏหมายอื่นๆ เช่น ยาบ้า กัญชา ฯลฯ ซึ่งไม่เสียภาษี จึงควรรับบริการภายหลังจากกองทุนที่เหลือใช้