อารยธรรม หรือวัฒนธรรมเก่าแก่ของโลกที่ชนชาติเจ้าของหรือต้นกำเนิดวัฒนธรรมยังคงมีประเทศชาติอยู่ถึงปัจจุบันนี้ มีวัฒนธรรมจีนและอินเดียอยู่นานมากว่า ๕,๐๐๐ ปี
อารยธรรมทั้งสองกระแสนับเป็นกระแสหลักของชนชาติทั้งหลายในทวีปเอเซีย ซึ่งเป็นทวีปที่มีประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งโลก
วัฒนธรรมจีนนอกจากทรงอิทธิพลเหนือชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ วิถีชีวิตของชาวจีนแล้วยังแผ่อิทธิพลไปยังชาวญี่ปุ่น ขาวเกาหลี ชาวมองโกเลีย ชาวเวียดนาม และในหมู่บ้านชาวจีนโพ้นทะเล (ฮั่วเคี้ยว/หัวเฉียว) ทั่วโลก รวมทั้งในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนด้วย แต่คนไทยเชื้อสายจีนในเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีนอย่างเจาะลึก หรือศึกษาจากหนังสือที่เขียนเผยแพร่มาเแต่โบราณ ที่ได้รับความเชื่อถือยกย่องเป็น "วรรณกรรม" ของชาติจีน
ครั้นถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นว่าหนังสือตำราต่างๆ ถูกข้าศึกเผาผลาญไปหมดในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา จึงมีพระราโชบายให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้รู้ภาษาหนังสือช่วยแต่ง แปล เรียบเรียงหนังสือดีมีคุณค่าสูงเป็น "วรรณคดีมรดก" ตกทอดมาถึงลูกหลานไทยทุกวันนี้ มีหลายๆ เรื่อง หนึ่งในจำนวนนี้คือ "สามก๊ก" ฉบับเจ้าพระยาคลัง(หน)
เรื่อง "สามก๊ก" ได้รับการยกย่องจากนักศึกษาวรรณคดีจากทั่วโลกให้เป็น "หนึ่งในสี่สุดยอดวรรณคดีจีน" อีก ๓ เรื่อง คือ ๑. ไซอิ๋ว ๒. ซ้องกั๋ง และ ๓. ความฝันในหอแดง
ท่านอาจจะแปลกใจว่า ทำไมท่านไม่เคยทราบว่า มีวรรณคดีจีนเรื่องอื่นที่ยอดเยี่ยมนอกเหนือจากเรื่อง "สามก๊ก" ที่นักเรียนไทยจำเป็นต้องอ่าน เพราะบังคับอยู่ในหนังสือเรียนชั้นมัธยมต้น ที่จริงยอดวรรณคดีอีก ๓ เรื่องนั้น เคยแปล/เรียบเรียง พิมพ์เผยแพร่ในเมืองไทยมานานแล้ว ทั้งลงในหนังสือพิมพ์ และรวมเรื่องพิมพ์เป็นเล่มโดยศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ องค์การค้าของคุรุสภาในอดีต แต่แทบไม่มีคนสนใจซื้ออ่าน ทั้งๆ ที่พิมพ์ขายเมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน เล่มขนาดพ็อกเก็ตราคาเล่มละ ๑๐ บาท (ปกแข็ง ๑๔ บาท)
หนังสือชุดนี้เรียกว่า "ชุดพงศาวดารจีน ความฝันในหอแดง" ซึ่งในนิยายแปลและพิมพ์ภายหลัง หนังสือชุดนี้จัดเรียงลำดับตามเรื่องราวความเชื่อของชนชาวจีน ตั้งแต่ยุคนิยายปรัมปราตำนานเทพเจ้าต่างๆ กำเนิดแคว้นต่างๆ ของชนชาติจีน จนกระทั่งจักรพรรดิจิ๋นซีทรงปราบปรามและผนวกอีก ๖ แคว้นเข้ามารวมเป็น "อาณาจักรจิ๋น" หรือ "ฉิน" (สำเนียงจีนกลาง) คนไทยเรียกอาณาจักรจีน/ ชาวจีน
ถ้าใครได้อ่านหนังสือชุดนี้จะรู้จักตำนาน ความเชื่อ วัฒนธรรม (เกร็ด) พงศาวดารจีนได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน มีผู้รู้หลายท่านที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวจนมีผลงานปรากฏแก่สาธารณชน เช่น รศ. ดร. ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย ผศ. ถาวร สิกขโกศล อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ฯลฯ (วิทยากร: ผู้เขียนรู้น้อยกว่าท่านทั้งสามสักร้อยเท่า)
ถ้าท่านอ่านหนังสือชุดพงศาวดารจีนแล้ว เวลาไปเที่ยวเมืองจีนจะทำให้สนุกเพลิดเพลินเพราะเรารู้เขา เราเข้าใจเขา (อีกทั้งตอบคำถาม ๕-๖ ข้อของผมได้ง่ายดาย)
น่าเสียดายที่มีอุปสรรคสำคัญ ๒ เรื่องขัดขวางการศึกษาเรียนรู้เรื่องจีน คือ
๑. ความตื่นกลัวคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทย ในยุค "เผด็จการทหาร" สั่งห้ามการเรียนการ
สอนภาษาจีนในโรงเรียนเกินกว่าชั้นประถมศึกษา
๒. ผู้ (สู่) รู้ของไทยบางคน สร้าง "วาทกรรม" ให้คนไทยรังเกียจที่จะอ่าน (ยอดวรรณกรรมจีน)
เช่น
* ใครอ่าน "สามก๊ก" ๓ จบ(แล้ว) (เป็นคนที่) คบไม่ได้
** ใครอ่าน "ไซอิ๋ว"(แล้ว) จะเป็นคนหยุกหยิกบุคลิกเหมือนลิง(เห้งเจีย)
*** ใครอ่าน "ซ้องกั๋ง" (แล้ว) จะเป็นคนใจคดขบถต่อเจ้า(แผ่นดิน)
****ใครอ่าน "ความฝันในหอแดง"(แล้ว) จะ "ใจแตก"(หมกมุ่นกามารมณ์)
ผมยืนยันว่า "วาทกรรม" ทั้ง ๔ กรณีล้วนเหลวไหล เผอิญผมไม่(โง่)เชื่อตาม ผมจึง
* อ่านเรื่อง "สามก๊ก" ซ้ำๆ เกิน ๓ จบ จึงพบว่า คนที่อ่าน "สามก๊ก" แค่ ๓ จบ นั้นอย่าคบ(คือนับถือ) ว่ารู้จริง เพราะตัวละครในเรื่องนี้ มีนับพันๆ ชื่อ คนอ่านแค่ ๓ จบ จะจำชื่อได้หมดหรือ
** เรื่อง "ไซอิ๋ว" นั้นลึกซึ้งมาก ถ้าอ่านต่ำกว่า ๑๐ ครั้ง จะเข้าไม่ถึงมิติ "ทั้งห้า" ที่ท่านผู้แต่ง (อู๋เฉิงเอิน) ได้ซ่อนไว้ในเรื่อง
*** ถ้าท่าน "เหมาเจ๋อตง" ไม่อ่านเรื่อง "ซ้องกั๋ง" จนเจนจบละก็ประเทศจีนก็ยังคงเป็น "ยักษ์หลับของโลก" ที่ถูกมหาอำนาจชาติตะวันตกแล่เนื้อเถือหนังตราบบัดนี้กระมัง
**** คนไทยที่เรียนวรรณคดีในชั้นมัธยมปลายได้อ่านนิยายอิงพุทธ เรื่อง "กามนิต" (และวาสิฏฐี) อย่างสนุกซาบซึ้งปานใด ผู้รู้ที่อ่านเรื่อง "ความฝันในหอแดง" ก็จะได้รสและคติธรรมซาบซึ้งคล้ายคลึงกัน คือ พระพุทธธรรมในหัวข้อ "อนิจจัง ทุกขัง" ดังจะเห็นได้ว่า "ตัวเอก" ของทั้ง ๒ เรื่องนี้ ล้วนผิดหวังในความรัก เพราะ(อนิจจัง) ความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตจึงได้รับความทุกข์ใจยิ่งนัก
ในที่สุด "พระเอก" ในนิยายจีน ก็ปลงผมห่มเหลืองออกบวชในพุทธศาสนา ส่วน "กามนิต" ก็แสวงหาพระพุทธองค์ด้วยเชื่อว่า พระธรรม(คำสอน) ของพระองค์จะศักดิ์สิทธิ์ บันดาลให้ตนพ้นทุกข์ตามความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของตน ดังนั้นแม้ "กามนิต" นั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธองค์ตั้งแต่หัวค่ำ สนทนาธรรมกันจนรุ่งเช้า แต่ "กามนิต" ก็ไม่บรรลุธรรม เพราะไม่ปฏิบัติ ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า กลับวิ่งออกไปตลาดจนถูกวัวบ้าขวิดตายอนาถ
น่าเสียดายที่คนไทยเชื้อสายจีน ไม่สนใจความรู้เรื่องวัฒนธรรมจีนอย่างเข้าใจความเป็นมาของเรื่องนั้นๆ เพราะถ้าเข้าใจ / เข้าถึงละก็จะได้รับประโยชน์มากในด้านสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม
ผม (วิทยากร) เป็น "หลานจีน" (ตึ่งหนั่งซุง) ไม่รู้ภาษาจีน อ่านศึกษาเรื่องจีนจากหนังสือแปลและฟังจากผู้รู้ นำมาประมวลวิเคราะห์แล้วบอกเล่าให้ท่านฟัง ผมขอเชิญชวนผู้สนใจอ่านศึกษาเรื่องจีนๆ มาเป็น "สมาชิกชมรมผู้อ่านเรื่องจีน" เอาไหมครับ