Saturday, September 23, 2017

พระพม่า "ฉันตอนบ่ายๆ" ได้ไง?

         เมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อน  ผมยังเป็นเด็กๆ อยู่ที่บ้านเกิดเมืองลำปาง  เคยเห็นพระภิกษุบางรูปฉันอาหารตอนเย็นเป็นเรื่องปกติ   เพราะยายของผม  ป้าของผมก็เคยพาผมไปวัดตอนเย็น  เพื่อนำอาหารไปถวายให้พระฉัน

         ครั้นผมเรียนระดับมัธยมในโรงเรียนประจำจังหวัด  ได้ยินคุณครูที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ บ่นหรือตำหนิว่าพระสงฆ์ที่นั่น  ทำไมทำผิดวินัยคือ  ฉันหลังเวลาเพล  คือ  หลังเที่ยงวัน  พวกนักเรียนเป็นคนท้องถิ่นก็เห็นจนชินตา  จึงไม่รู้ว่ามีอะไรผิดปกติ  นอกจากคุณครูต่างหากที่ผิดปกติ   จนเมื่ออีกกว่า ๑๐ ปีต่อมา  ผมมีโอกาสไปเดินตามท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิลซึ่งเป็นหนึ่งใน ๑๕ นักปราชญ์ภาษาไทย ในคณะกรรมการชำระพจนานุกรมไทยฉบับฉลอง ๒๐๐ ปี  กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๕  ท่านอาจารย์สถิตย์มีเมตตาแนะนำให้ผมอ่าน  "พงศาวดารพม่า"  ฉบับพระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธพงศ์  และติดตามอ่านข้อเขียนเรื่อง  "พม่าเสียเมือง" ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  เขียนลง "สยามรัฐ"

         ผมอ่านและประมวลเรื่องราวเข้าใจเหตุผลแต่ไม่เขียนไว้ที่ใด  เคยเล่าให้ญาติมิตรบ้าง  อย่างเช่น  เมื่อวานนี้ (๒๖ มกราคม ๒๕๕๖)  ผมกินกลางวันกับเพื่อนสนิท (ท.พ. ธงชัย นาคพันธุ์) ซึ่งเคยไปเรียนชั้นมัธยมต้นที่ลำปางด้วยกัน   หมอธงชัยฟังและหัวเราะชอบใจด้วยความทึ่ง  ปรารภว่าจะนำไปเล่าต่อก็จำไม่ค่อยได้ (บางทีเกรงว่าอาจจะโดนผม "อำ" ก็ได้)  เพื่อความรอบคอบจึงขอให้ผมเขียนไปดังนี้ครับ

         หลังจากราชวงศ์อลองพญา  ขึ้นสูงสุดเมื่อถล่มกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว   ราชวงศ์ของพม่าก็เสื่อมลงด้วยกษัตริย์พม่าต่อจากนั้น  ทรงมีอาการ "เสียพระจริต" (คือบ้าๆ บอๆ) อาจจะเพราะบาปมหันต์ที่กองทัพพม่า  เผาลอกทองคำจากพระพุทธรูป  และปูชนียวัตถุ/ สถานต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา   กษัตริย์พม่า "เสียพระจริต" ถึง ๔ พระองค์  โดยเฉพาะพระเจ้าสิงกู หรือจิงกู (บางแห่งเรียก "จิงกูจา") คงไม่ได้เตรียมพระองค์ไว้ก่อนเพื่อจะเป็นกษัตริย์  จึงทรงพระสำราญจนดึกดื่น  และตื่นบรรทมสายเสมอ

         โดยราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ในประเทศพม่า  ประเทศสยามในยุคโน้น  ราชสำนักจะอาราธนาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์  จากวัดสำคัญๆ ผลัดเปลี่ยนกันมารับบิณฑบาตในพระราชวังทุกเช้า พระเจ้าอยู่หัวก็จะตื่นบรรทมแต่เช้า  เสด็จลงทรงบาตรเอง  ถือเป็นธรรมเนียมที่พระองค์จะทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับพระสงฆ์ผู้ใหญ่  ซึ่งบางรูปอาจเป็นพระอาจารย์ก็ได้  แต่พระเจ้าสิงกูหรือจิงกู(จา) ทรงตื่นสายมาก  พระสงฆ์มารอรับบิณฑบาตนาน  มหาดเล็กบางนายเสี่ยงตายไปปลุกบรรทม  กว่าจะเสด็จลงก็เลยเวลามื้อเช้าไปมากแล้ว

         พระเจ้าสิงกู (จิงกูจา) ทรงแก้ปัญหาโดยให้นิมนต์พระสงฆ์มาสายกว่าเดิม  เป็นการรับบิณฑบาตภัตตาหารเพลแทน  เพื่อพระองค์จะไม่ต้องถูกปลุกบรรทมให้ทรงรำคาญ   แต่เพราะทรงพระสำราญจนดึกมากกว่าเดิมด้วย  แม้จะเลื่อนเวลาไปสายจากเดิมหลายชั่วโมง  จนเปลี่ยนเป็นทรงบาตรมื้อเพลแล้ว  แต่พระองค์ก็ทรงเปลี่ยนเวลาตื่นบรรทมสายโด่งตามไปด้วย  จนที่สุดใกล้เวลาเพลแล้ว มหาดเล็กก็ต้องเสี่ยงตายไปปลุกบรรทมอีก   เพื่อให้ทันเวลาที่พระสงฆ์จะนำภัตตาหารกลับวัดไปทันเวลาฉันเพล

          พระเจ้าสิงกู(จิงกูจา) คงจะทรงรำคาญที่ถูกปลุกบรรทมเนืองๆ จึงตรัสถามพระเถรานุเถระที่มารอรับบิณฑบาตว่า "ใครกำหนดเวลาฉันเพล?"  คณะสงฆ์ถวายพระพรว่า

          "พระพุทธองค์  ทรงกำหนด"
          "แล้วพระพุทธเจ้าท่านเป็นชนชาติใดเล่า?"
          "ชาวอินเดีย พะย่ะค่ะ"
          "เวลาเพลที่อินเดีย คือ สิบเอ็ดโมงน่ะ  ที่เมืองพม่าเวลาเท่าไรล่ะ?"
       
         คณะสงฆ์ถวายพระพรว่า "ประมาณบ่ายแก่ๆ ๔-๕ โมงเย็น พะย่ะค่ะ"

         พระเจ้าสิงกู(จิงกูจา)  จึงมีพระราชโองการว่า "เพื่อให้พระสงฆ์ในเมืองพม่าฉันเพลในเวลาเดียวกันกับเวลาเพลที่เมืองอินเดีย  ตามที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนด  ซึ่งเวลาเพลในเมืองอินเดียนั้นตรงกับเวลา ๔ โมงเย็นในเมืองพม่า  ดังนั้น  จึงกำหนดให้พระสงฆ์พม่าฉันเพลในเวลา ๔ โมงเย็น"

         นับแต่นั้นมา  พระสงฆ์พม่าจึงออกเดินบิณฑบาตตอนบ่ายแก่ๆ ราว ๓ โมง  และฉันเพลก่อน ๕ โมงเย็น

         ขณะนั้น  พม่ามีอานุภาพปกครองเชียงใหม่ล้านนาในฐานะประเทศราชมีการสร้างวัด(พม่า) ขึ้นในเมืองต่างๆ พม่ามีมาปกครองต้องกำหนดให้วัด และพระสงฆ์ปฏิบัติให้ตรงกับที่ทรงที่ราชโองการในพม่าด้วย  ต่อเนื่องมาจนแม้ล้านนาได้กลับมาอยู่ใต้ร่มพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินสยาม  ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าตากสินแล้ว  แต่พระสงฆ์ที่ล้านนาก็ยังมีการ "ฉันเพลตอนเย็น"  หลงเหลือให้ผม (และหมอธงชัย) เห็นเมื่อเรายังเป็นนักเรียนมัธยม

         คณะสงฆ์ไทยปัจจุบันใช้เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.  เป็นเวลาฉันเพลทุกวัดทุกงานเหมือนกันหมด  แต่ที่พม่ายังมีพระสงฆ์เดินบิณฑบาตตอนบ่ายแก่ๆ  ให้คนไทยเห็นด้วยความงุนงงอยู่ไม่น้อย