ผู้หลักผู้ใหญ่ ข้าราชการ นักวิชาการ และชาวไทยที่มีจิตสำนึกรักชาติ ล้วนแต่เป็นห่วงกังวลมากว่า ช่วง ๒ ปีเศษที่รัฐบาลรับจำนำจน "ผูกขาด" การซื้อขายข้าวโดยปริยายนั้น ได้สร้างปัญหาใหญ่หลวงขึ้นในแผ่นดินไทย นอกจากเงินงบประมาณ (คือภาษีของคนไทย) ต้อง "ละลาย" ไปกว่าสี่แสนล้านบาทแล้ว แทนที่ชาวนาจะ "ลืมตาอ้าปากได้" กลับเป็นว่าชาวนาทั่วประเทศนับล้านครอบครัวที่ส่งมอบ "จำนำ" ข้าวให้รัฐบาลแล้ว หลายๆ เดือน แต่ไม่ได้รับเงินค่าข้าว ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หนี้สินท่วมตัว จนชาวนาบางคนคับแค้นถึงฆ่าตัวตาย/ เครียดตายไปหลายคน
ที่สุดชาวนาทนไม่ได้ จึงออกมาชุมนุมตามจังหวัดต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินค่าข้าวที่รับจำนำไว้นั้น แต่รัฐบาลไม่มีทางหาเงินมาจ่ายได้ เพียงแต่ประวิงเวลาให้พ้นการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ครั้นเสร็จการเลือกตั้ง ชาวนาก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับเงินเมื่อใด? ผู้รู้ที่เชี่ยวชาญกฏหมายการเงินการคลัง ระบุว่าตราบใดที่เป็นรัฐบาลรักษาการ(ชั่วคราว) ก็ไม่สามารถกู้เงินมาจ่ายค่าข้าวได้ แม้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังจะพยายามขอกู้จากธนาคาร และองค์กรทุกแห่งที่มีเงิน
กระทรวงพาณิชย์ไป "ไกลสุดโต่ง" ถึงกับเจรจาขอให้โรงสีข้าว/ โรงจำนำช่วยรับช่วงจำนำ (ต่อ) ใบประทวนจำนำข้าวที่ชาวนาถืออยู่ โดยทางรัฐบาลจะจ่ายค่าดอกเบี้ยแทนชาวนา แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะโรงสีไม่ใช่โรงรับจำนำ (มีกฏหมายที่ควบคุมต่างหาก) ขืนรับจำนำละก็โรงสีก็จะกลายเป็น "เจ้าหนี้นอกระบบ" และถ้ากระทรวงพาณิชย์นำเงินหลวงไปจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้นอกระบบ ละก็ ป.ป.ช. ก็ต้องมีคดีให้ไต่สวนอีกเรื่อง
ส่วนโรงรับจำนำนั้น อย่าคิดไปเบียดเบียน(กู้)เงินจาก "ที่พึ่งของคนจน" เลย เพราะวงเงินหมุนเวียนน้อยนิดที่ไหนจะมีปริมาณเงินเหลือพอจะให้กู้ไปจ่ายค่าข้าว ในวงเงินแสนกว่าล้านบาทได้เล่าที่สุดของชาวนาคือ หมดความอดทนและยกขบวนกันมาจากจังหวัดต่างๆ เข้ามายึดพ้นที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ ย่านสนามบินน้ำ อำเภอเมืองนนทบุรี ตั้งแต่วันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
นับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของเมืองไทยที่ชาวนาทั่วประเทศซึ่งปกติเป็น "คนรากหญ้า" ที่มักมีหนี้สินประจำกลับกลายเป็น "เจ้าหนี้" รายใหญ่ของรัฐบาล อาจเป็น "ตลกร้าย" ที่รัฐบาลสามารถยกระดับฐานะของชาวนาจากการเป็น "ลูกหนี้" ชั่วนาตาปี ให้กลับพลิกขึ้นเป็น "เจ้าหนี้" ในพริบตา
ถามว่า แล้วจะทำอย่างไร ชาวนาจึงจะได้รับเงินค่าข้าว? คำตอบก็คือ ต้องมีรัฐบาล(ถาวร)มาบริหารบ้านเมือง ไม่ว่ารัฐบาลใดๆ ที่ไม่ใช่ "รัฐบาลรักษาการ" รัฐบาลนั้นก็มีความชอบธรรมทางกฏหมายที่จะหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาได้
แม้จะมีรัฐบาลใหม่แล้ว ก็ต้องเผชิญกับปัญหาอันหนักหนาสาหัสเกี่ยวกับข้าวอีกอย่างน้อย ๒ ประการ คือ
๑. ข้าวที่เหลือตกค้างอยู่ในโกดัง ๑๔-๑๖-๑๘ ล้านตัน (ไม่มีใครรู้ ปริมาณที่แท้จริงเป็นเท่าไรแน่) รัฐบาลใหม่จะบริหารจัดการ อย่างไร จึงจะเสียหายต่อประเทศชาติน้อยที่สุด?
๒. จะแก้ไขวิกฤตในระบบการผลิตการค้าข้าวไทยอย่างไร จึงจะ กลับฟื้นคืนสู่ระบบปกติ ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศส่งออกข้าว อันดับหนึ่งของโลกได้?
ทั้งสองปัญหาล้วนหนักหนาสาหัสสุดที่หน่วยงานใดจะทำสำเร็จ จึงต้องทำเป็น "วาระแห่งชาติ" เชิญผู้รู้สุจริตอาสากันมาช่วยคิด ช่วยระดมสมองกันทำ จึงจะมองเห็นความสำเร็จได้
ในชั้นนี้ ขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง "ข้าวค้างสต็อค" ก่อน เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วนมาก ส่วนปัญหาวิกฤตของระบบการผลิตและการค้าส่งออกข้าวไทยนั้น ถ้ามี
๑. รัฐบาลสุจริต ไม่จำเป็นฉลาดก็ได้
๒. ต้องไม่ให้อำนาจรัฐไปแทรกแซง
เพียงสองประการเท่านี้เอง ปัญหาก็จะคลี่คลายเยียวยาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะในสถานการณ์ปกติ "การค้าเสรี" จะมีประสิทธิภาพที่สุด รัฐบาลที่ฉลาดและสุจริตในอนาคต ค่อยไปเพิ่มสมรรถนะให้ระบบการผลิตและการค้าข้าวไทยมีอัตราเร่ง จนกลับคืน "แชมป์" ผู้ส่งออกอันดับหนึ่งในอนาคตได้
ก่อนอื่นโปรดพิจารณาทราบถึง "โทษสมบัติ" ของข้าวค้างสต็อค ว่ามีอย่างไรบ้าง? พอสรุปได้คือ
๑. ไม่มีใครรับรองได้ว่า "ปริมาณ" ข้าวที่รัฐบาลรับจำนำ(ซื้อ) ไว้ในแต่ละโกดังมีปริมาณครบถ้วน ตามระบุในเอกสารบัญชีของทางราชการหรือไม่
๒. ไม่มีใครรับรองได้ว่า "มาตรฐาน" ข้าวที่รัฐบาลจำนำ (ซื้อ) ไว้ในแต่ละโกดัง มีเกรดมาตรฐาน
ตรงตามระบุในเอกสารบัญชีของทางราชการหรือไม่
๓. ไม่มีใครรับรองได้ว่า "สภาพหรือคุณภาพ" ข้าวที่รัฐบาลรับจำนำ (ซื้อ) ไว้ในแต่ละโกดัง มี
สภาพคุณภาพ "ดี-เสื่อม-เน่า" อย่างไรแน่
ด้วยเหตุแห่ง "โทษสมบัติ" สามประการนี้ ทำให้บรรดาผู้ค้าข้าวส่งออกทั้งหลายที่สุจริตไม่กล้าเสี่ยงเข้าร่วมการประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาล แบบสุ่มเสี่ยงตามระบุในเอกสารบัญชี
จึงมีแต่บริษัท หรือกลุ่มบุคคลในเครือข่ายนักการเมืองเพียง ๔-๕ รายที่กล้าหาญวนเวียนกันซื้อข้าวจากรัฐบาล เพราะผู้คนเหล่านี้มีสายสนกลในทำให้ล่วงรู้ข้อมูลภายใน ดั่งมี "หูทิพย์ตาทิพย์" จึงซื้อสามารถซื้อข้าวได้ในราคาถูก และคุณภาพดีตรงตามต้องการ แล้วนำไปขายต่อได้กำไรมากมายแบ่งปันกันในหมู่ผู้ร่วมขบวนการทุจริต
นับเป็นขบวนการ "ย้กย้ายถ่ายเทเงินหลวง" ที่ยิ่งใหญ่มโหฬารเป็นประวัติการณ์ของโลกทีเดียว
เมื่อใดมีรัฐบาลใหม่ที่สุจริตโปรดพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหา "ข้าวค้างสต็อค" โดยเร่งด่วนที่สุด เพราะช้าไปวันหนึ่ง ข้าวก็เสื่อมสภาพเสื่อมมูลค่าราคาลงวันหนึ่ง ถึงที่สุดจะกลายสภาพเป็น "ข้าวเน่า" ทั้งหมด เงินมหาศาลที่นำไปจัดซื้อข้าวก็จะ "ละลาย" กลายเป็นหนี้สูญไป ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยแนวทางที่ถูกต้องและรวดเร็วทันการณ์
จึงขอเสนอให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
๑. ยกเลิกโครงการจำนำข้าวทันที และไม่ทำโครงการใดๆ ที่จะมีข้าวเพิ่มเข้าโกดัง/ สต็อคข้าว
ของรัฐบาลอีก
๒. ข้าวฤดูใหม่ให้ค้าเสรี
๓. เร่งระบายส่งออกข้าวไปนอกประเทศเท่านั้น เพื่อมิให้ปริมาณข้าว(ในสต็อค) ออกมา
(ท่วมตลาด) ภายในประเทศ กลายเป็น "บาปซ้ำกรรมซัด" แก่ชาวนาอีก ดังนั้นต้องระบุชัด
ว่ามีบทลงโทษแรง ถ้าผู้ซื้อข้าวจากรัฐบาลแล้วไม่ส่งออกภายในกำหนด
๔. การระบายข้าวจากสต็อค ต้องกำหนดว่าขายและส่งมอบแก่ผู้ซื้อตาม "มาตรฐานคุณภาพ
ข้าว" ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด แต่ราคาขายสอดคล้องกับราคาในตลาดโลก ไม่ให้
"ทุ่มตลาด" หรือเทขายออกตลาดโลก เพราะจะเกิดผลร้ายย้อนกลับมาทำให้ราคาข้าวเปลือก
ฤดูใหม่ของชาวนาไทยพลอยตกต่ำลงไปด้วย (ดังคำพังเพยจีนว่า "ทุ่มหินใส่ตีนตัวเอง")
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายการขาย/ ระบายข้าว เป็นระดับต่างกัน ดังนี้
๔.๑. ข้าวคุณภาพดี-ค่อนข้างดี คือ ข้าวเกรดสูงกว่า ๒๕% ขายให้ผู้ส่งออกโดยเสรี
มีรางวัลเป็นแรงจูงใจตามสมควร
๔.๒. ข้าวคุณภาพที่บริโภคได้ไม่มีพิษ หรือเสื่อมสภาพ แต่เกรดต่ำจาก ๒๕% ลงไปถึง
ปลายข้าว
ข้าวประเภทนี้มีตลาดมาก แต่ล้วนเป็น "ตลาดล่าง" คือ ประเทศยากจน ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายพิเศษ เช่น เจรจาซื้อขายข้าวจากเราแบบ G To G แต่การส่งมอบ(รับมอบ) เป็นเรื่องของบริษัทเอกชน โดยรัฐบาลผู้ซื้อค้ำประกัน L/G ที่เปิดเข้ามาชำระเงิน
๔.๓. ข้าวคุณภาพระดับนี้ ยังมีความต้องการมากอยู่ในประเทศยากจนในทวีปอาฟริกา และ
อเมริกาใต้ แต่ประเทศเหล่านี้ไม่มี US Dollar พอจะซื้อเงินสดได้ ดังนั้นรัฐบาลควร
ขายเงินเชื่อระบบ G To G ได้โดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ข้อ ๔.๒.
ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องขออนุเคราะห์จากธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยสนับสนุน
๔.๔. หลายประเทศในโลกนี้ขาดแคลนอาหาร แต่มีทรัพยากรที่ตลาดต้องการ เช่น
เวเนซูเอล่า ประชาชนอดหยากขาดแคลนอาหาร แต่มีน้ำมันปิโตรเลี่ยมมากที่สุด
ในอเมริกาใต้
รัฐบาลต้องเจรจากับเวเนซูเอล่า เพื่อแลกเปลี่ยนข้าวกับน้ำมัน โดยเราจะต้องไม่นำนำ้มันเข้ามาเมืองไทย แต่จะขายน้ำมันให้ประเทศที่สาม นำเงินต่างประเทศเข้าเมืองไทยแทน
๔.๕. หลายประเทศต้องการอาหารแต่ไม่มีแม้แต่ทรัพยากรมีค่ามาแลกซื้อ เราสามารถเจรจา
ให้เขาใช้สิทธิประโยชน์มาแลกซื้อแทนก็ย่อมได้
ตัวอย่าง สมมุติ เช่น ประเทศ ก. มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำรายได้จากผู้เข้าชมปีละหลายล้านดอลลาร์ เราก็เจรจาให้ผู้ซื้อนำสิทธิประโยชน์นั้นมาแลกซื้อข้าวได้
๕. ข้าวที่เสื่อมคุณภาพมนุษย์ไม่บริโภค ก็ขายออกเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
๖. "ข้าวเน่า" ถึงขนาดขึ้นรา บรรดาปศุสัตว์ไม่เหมาะที่จะกิน แต่ก็ยังขายออกไปให้โรงงานผลิต
ปุ๋ยอินทรีย์ และโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ได้
ถ้าสามารถปฏิบัติตามแนวทางดังเสนอนี้ จะทำให้ระบายข้าว "ค้างสต็อค" ออกหมดสิ้นได้ภายใน ๒ ปี โดยสามารถขายข้าวได้ทุกเมล็ด ไม่ต้องเผาข้าวทิ้ง หรือนำข้าวไปทิ้งทะเลแต่ประการใด
ความคิดที่เสนอมาทั้งหมดนี้ หวังว่าจะเกิดผลเสมือน "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" แก่ผู้บริหารบ้านเมืองที่รักชาติในโอกาสต่อไป
อนึ่ง ปัญหาที่ตั้งไว้ว่า "จะแก้ไขวิกฤตในระบบการผลิต การค้าข้าวไทยอย่างไร จึงจะกลับฟื้นคืนสู่ระบบปกติ ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกได้" อย่างไร? นั้น