ผมเป็นเด็กดีมีจิตอาสาและเรียนเก่ง ทำให้ได้รับเมตตาเป็นพิเศษ คือ ยืมหนังสือชุดนี้ไปอ่านที่บ้านได้ ลำพังอ่านเฉพาะในห้องสมุดซึ่งมีเวลาเพียงวันละ ๑ ชั่วโมง ผมคงอ่านได้อย่างเร็วเพียง ๒-๓ เล่ม แต่เพราะคุณครูไว้วางใจผมจึงได้อ่านจนจบ โดยเฉพาะเรื่องราวของเยอรมนีที่แพ้สงครามโลกครั้งแรก แต่กลับมีศักยภาพกลับมาเป็นมหาอำนาจสั่นสะเทือนจนโลกเกิดสงครามครั้งที่ ๒ ได้อีก
การสอบในยุคนั้น นำระบบ "ปรนัย" อย่างเข้มมาใช้ คือ ข้อสอบประเภทขีดถูกผิดห้ามเดามั่ว ถ้าไม่ตอบก็ไม่ได้คะแนน ตอบผิดติดลบ ตอบถูกเท่านั้นจึงจะได้คะแนน การสอบซ้อมใหญ่กลางปีในวิชาประวัติศาสตร์ มีคำถามข้อหนึ่งให้เติมคำตอบ คือ
ถาม : ประธานาธิบดีคนแรกของเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งแรกคือใคร?
ตอบ : ....................
คุณครูณรงค์ เป็นคนสุดท้ายที่เฉลยผลการสอบวิชานี้ โดยนำปึกกระดาษคำตอบเข้ามาอ่านที่หน้าห้องเฉลยว่า คำตอบ คือ "จอมพลฟอน ฮิลเดลเบิร์ก"
ปรากฏว่า เพื่อนนักเรียนที่ตอบเช่นนี้และได้คะแนน บวก ๔ เพราะตอบตรงกับที่คุณครูเฉลย แต่ผมได้คะแนนลบ ๔ เพราะตอบว่า (ประธานาธิบดีคนแรกของเยอรมนี) คือ "เฟรเดริก อีเบิร์ต Friedrich Ebert เป็นประธานาธิบดีคนแรกของเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งแรกระหว่างปี ๑๙๑๙ จนถึงปี ๑๙๒๕"
Friedrich Ebert ประธานาธิบดีคนแรกของเยอรมนี |
คุณครูณรงค์ย่อมรู้ดีว่าผมไม่ใช่คนมั่วตอบส่งเดช จึงถามอย่างเมตตาว่า "ศุภกิจ ทำไมตอบผิด เธอไปเอาชื่ออีตานั่นมาจากไหน?" ผมเคารพท่านมากไม่อยากตอบให้ท่านอับอายขายหน้า แต่เมื่อคำนวณคะแนนวิชาทุกวิชาแล้ว ผมไม่ได้คะแนนรวมเท่ากับคู่แข่งชิงที่ ๑ ถ้าผมโดนติดลบ ๔ ผมก็จะไม่ได้ ผมจึงตอบว่า "ผมตอบถูกครับ แต่คุณครูเฉลยผิด"
คนทั้งห้องเงียบกริบ คาดว่าครูต้องเขกหัวผมแน่ แต่คุณครูกลับถามผมซ้ำอีกว่า "เธอเอาชื่อ เฟรเดริก อีเบิร์ต มาจากไหน?" (ในเมื่อใครๆ อ่านตำราของกระทรวงศึกษาฯ แล้วก็ต้องตอบว่า จอมพลฟอน ฮิลเดลเบิร์ก ทั้งนั้นแหละ) ผมยืนยันว่าหนังสือชุดประวัติศาสตร์สากล เล่มที่ ๑๑ บอกชัดเจนตามคำตอบของผม คุณครูให้ผมไปนำหนังสือจากห้องสมุดมาพิสูจน์ ทำให้ผมพลิกกลับได้คะแนนบวก ๔ จึงสอบได้ที่หนึ่ง
ผ่านชีวิตมาหลายสิบปี ผมยังจดจำรำลึกถึงคุณครูณรงค์ บุญมัติ ด้วยความเคารพเชิดชูในความเป็น "วิญญูชน" ของท่าน ซึ่งผ่านความเป็นปุถุชน คือ "ทำผิดได้" ผ่านความเป็น "มนุษยชน" คือ "ยอมรับความผิดนั้น" แต่ยากนักและน้อยคนนักที่จะบรรลุถึงขั้นความเป็น "วิญญูชน" คือ "แก้ไขความผิดนั้นให้กลับคืนดี" แม้ตนจะต้องทนรับความเจ็บปวดอับอายก็ตาม
ปี ๒๕๑๐ ผมเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำกิจกรรมมากมายหลายชุมนุมฯ โดยเฉพาะได้เป็นประธานชุมนุมวรรณศิลป์ คนที่ ๓ ถึงปีดังกล่าว จึงทำให้ผมได้เป็นประธานจัด "งานฉลอง ๒๐๐ ปี พระพุทธเลิศหล้าฯ" ซึ่งเป็นการจัดก่อนรัฐบาล ๑ ปี ไม่มีตัวแบบใดๆ ให้เลียนแบบ เราคณะนักศึกษาผู้จัดงานต้อง "เค้นสมอง" ทุ่มเทเวลาและแรงกายทำงานตั้งแต่เตรียมงานจนเสร็จงาน น่าอัศจรรย์ที่เราได้เงินงบประมาณจากสโมสรมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่พันบาท แต่กลับสามารถจัดงานยิ่งใหญ่ระดับชาติได้ เราจัดงานนาน ๙ วัน มีกิจกรรมสำคัญ เช่น จัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่สำคัญ จัดประกวดบทกวี ๔ ประเภท และแสดงนิทรรศการบทร้อยกรองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๒ (ครั้งแรกผมก็เป็นประธานริเริ่มจัดงานนี้) แต่เพราะงานยาวนาน ๙ วัน จำเป็นต้องมีกิจกรรมระหว่างวันต่อวัน หรือมีรายการกิจกรรมทุกวัน
เราคือ "ชุมนุมวรรณศิลป์ฯ" กิจกรรมที่เราถนัดที่สุดก็คือ การแต่งบทร้อยกรองซึ่งก่อนหน้านี้หลายปี อาจารย์จำนง รังสิกุล ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ ที่บางขุนพรหม (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์นี้แปรรูปไปเป็นช่อง ๙ อ.ส.ม.ท.) ท่านได้จัดแข่งขันกลอนสดๆ ออกรายการ ทีวี เรียกว่าการแข่งกลอน "จอหงวน" ผู้เข้าแข่งต้องแต่งคนเดียวตามกระทู้หรือหัวข้อที่คณะกรรมการตัดสินจะแจ้งให้ทราบทันใด ต้องแต่ง "กลอนสักรวา" หรือ "กลอนดอกสร้อย" ให้จบภายใน ๕ นาที ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์ฯ และธรรมศาสตร์แล้ว มีนักร้อยกรองมากมายหลายมาร่วมวง จึงตกลงกติกาการประลองฝีปากแต่งร้อยกรองสดๆ ทั้งประเภทเดี่ยวและประเภทคณะ และแต่งแบบกวีวัจนะ คือ ผสมทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ และกลอน รวมแข่ง ๕ กระทู้
ผมต้องเชิญชวนชุมนุม/ชมรม เข้าแข่งขันให้มากๆ เพื่อจะจัดรายการแข่งขันได้ตลอดงาน ๙ วัน แต่สมัยนั้นมีการจัดตั้งองค์กรแบบนี้ไม่ถึง ๑๐ แห่ง เฉพาะในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ส่วนภาคประชาชนมีเพียง ชมรมนักกลอนแห่งประเทศไทยแห่งเดียว เราเชิญเข้าแข่งทั้งหมดยังไม่ครบวันงาน ผมจึงขอร้องให้เพื่อนๆ นักกลอนจากวิทยาลัยครูหลายแห่งรวมกันเป็น "ทีมสหวิทยาลัยครู" เข้าแข่งขันด้วย
แต่เวรกรรม ทีมรองชนะเลิศปีกลายคือ "วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร" ไม่ตอบรับคำเชิญ ผมจึงต้องรีบไปขอความอนุเคราะห์จาก ผศ. วิพุธ โสภวงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมภาษาและวัฒนธรรมไทยฯ พาผมเข้าไปพบชี้แจงหน้าห้องเรียนภาษาไทย ซึ่งมีเสถียร จันทิมาธร กับอัมพร สุขเกษม เป็นผู้นำทีมนักกลอน เหตุผลข้อขัดข้องคือ "ไม่ให้อาจารย์สถิตย์ เสมานิล เป็นกรรมการตัดสิน (อ้างว่า ท่านสนิทกับพวกธรรมศาสตร์) ผมตกลง และเพิ่มให้เชิญอาจารย์จาก วศ. ประสานมิตร ร่วมเป็นกรรมการตัดสินด้วย ที่ประชุมตกลงให้เชิญท่านอาจารย์ "สมปอง พิริยกิจ" หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย
การแข่งขันวันแรก หลังพิธีเปิดงานระหว่างทีมชมรมนักกลอนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนักกลอนอาวุโสและโด่งดังของไทยอยู่เต็มทีม คือ ภิญโญ ศรีจำลอง สุรพล สุมนนัฏ วัชรินทร สุทธินาค สันทนา ทองบุญส่ง
สี่มือทองแห่งท่าพระจันทร์ |
วันนั้น อาจารย์เปลื้อง ณ นคร อาจารย์เจือ สตะเวทิน และอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ซึ่งเคยเป็นประธานชมรมนักกลอนฯ มาก่อนล้วนตัดสินให้ธรรมศาสตร์ชนะเอกฉันท์ทั้ง ๕ กระทู้แข่งขัน ครั้นถึงวันแข่งขันระหว่างทีมรวม "สหวิทยาลัยครู" กับ "ทีมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ท่านอาจารย์สมปอง พิริยกิจ จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ร่วมกับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางร้อยกรองอีก ๒ ท่าน เป็นกรรมการตัดสิน ยุคนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์และสถาบันการศึกษาต่างๆ สนใจการแข่งขันกลอนสด ขนาดทีมภายนอกมาแข่งก็ยังมีนิสิตนักศึกษามาเข้าชมครั้งละ ๔๐ - ๕๐ คน ถ้าทีมธรรมศาสตร์ลงแข่งเองจะแห่กันมากว่า ๑๐๐ คนขึ้นไป แฟนประจำเหล่านี้ เข้าใจกติกาและเข้าถึงศิลปะการประพันธ์
อนิจจา...วันนั้น อาจารย์สมปอง พิริยกิจ "กรรมการมือใหม่" อาจจะยังไม่สันทัดการตัดสินและ "ตื่นเวที?" เริ่มกระทู้แรก กรรมการ ๒ ท่านอื่นตัดสินสอดคล้องกันและตรงกับความรู้สึกของผู้ชม จึงมีเสียงปรบมือเกรียวกราวรับ แต่เมื่อพิธีกรประกาศว่า อาจารย์สมปอง พิริยกิจ ตัดสินอย่างไรก็เกิดเสียง "โห่" คัดค้านทำให้ท่านหน้าสลด กระทู้ที่ ๒ อาจารย์อื่นสองท่านตัดสินให้ทีมที่ชนะกระทู้แรก แต่แพ้ในกระทู้ที่ ๒ คนดูปรบมือเกรียวกราวยอมรับ แต่กลับโห่อีกครั้งเมื่อได้ฟังว่า อาจารย์สมปองตัดสินให้ทีมที่สมควรชนะคราวนี้ กลับกลายเป็นแพ้! แต่อีก ๓ กระทู้ต่อมาไม่มีปัญหา
จงจิต กล้วยไม้ นักกลอนของทีมรวม "สหวิทยาลัยครู" ปรารภกับผมว่า เธอสงสารและเข้าใจท่านอาจารย์ที่ "ยอมรับความผิดพลาด" แล้ว "แก้ไขให้สมดุล" โดยตนเองยอมถูกโห่ไล่ทั้งขึ้นทั้งล่อง บางคนที่ไม่เข้าใจยังเห็นว่าท่านทำอะไรไม่เข้าท่าด้วยสิ ผ่านมาหลายสิบปี ผมยังไม่เคยพบผู้ใหญ่ท่านใดเป็น "วิญญูชน" ในดวงใจ เช่นท่านทั้งสองอีก ทั้งตัวผมเองก็ยังห่างไกลที่จะไปถึงจุดนั้น ความรู้สึกดุจต้นกล้ารอฝนยามแล้ง นานเกือบ ๔๐ ปีแล้ว มักพบแต่คนดื้อแม้ทำผิดก็ยังดันทุรัง
วันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ผมมีโอกาสได้ร่วมฟังการประชุมแจ้งผลการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือแห่งหนึ่ง ซึ่งมีศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ เป็นประธานพิจารณาหนังสือประเภทสารคดี พอเสนอรายงานเสร็จก็มีผู้ทักท้วงว่า หนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งมีรายชื่อเสนอให้ได้รางวัลชมเชยนั้น พิมพ์ข้อมูลสำคัญในจุดหนึ่งผิด ทำเอาผู้เข้าประชุมอึ้งไป เพราะผู้ทักท้วงเคยเป็นศิษย์ของศาสตราจารย์กีรติ แต่ผมไม่ใช่ศิษย์และไม่สนิทกับท่าน ผมจึงสนับสนุนผู้ทักท้วงโดยขยายความข้อมูลให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าผิดอย่างไร?
แต่...ที่จริงในใจผมคิดว่า...หากสมมุติว่า ผมเป็นประธานฯ แทนที่จะเป็นศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ผมจะทำอย่างไร? ผมก็อาจจะใช้ "ความเป็นปุถุชน" ของผมมาชี้แจงโดยขอความเห็นใจว่า มีหนังสือเข้าประกวดมากเกือบร้อยเล่ม คณะกรรมการคนไหนก็ไม่มีปัญญาอ่านครบทุกบรรทัด ย่อมมีข้อมูลพิมพ์ผิดบ้างเพียงบรรทัดเดียว ก็ควรยกเว้นอนุโลมให้
เผอิญศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ท่านเป็น "วิญญูชน" จึงยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขความผิดพลาดโดยขอถอนมติการให้รางวัลแก่หนังสือเรื่องนี้ออกไปไม่ให้รางวัล...ภาพลักษณ์ของศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ที่เกิดขึ้นใหม่ในใจผมจึงหนุ่มหล่อและสง่างามมาก
เมื่อสามปีเศษที่ผ่านมา ผมมีเวลาไปช่วยเลี้ยงหลานชายฝาแฝดอยู่ที่เมืองฮุสตัน เท็กซัส (Houston, TX, USA) ขณะนั้นหลานชายอายุใกล้ ๒ ขวบ กำลังซนและมักเดินวุ่นไปจนเผลอชนกะละมังใส่อาหารเม็ดไ้ว้ให้หมานั้นหล่นคว่ำลง อาหารเม็ดหล่นกระจายเกลื่อน คุณตาไทยๆ อย่างผมก็ขยับจะช่วยเก็บ แต่คุณยาย "เหยียบเบรก" และดูเงียบๆ ว่าหลานจะทำยังไง? ปรากฏว่าหลานชายตัวน้อยถือกะละมังเดินตามเก็บอาหารเม็ดใส่คืนจนครบ แม้บางจุดต้องลงคลานเข้าไปเก็บใต้โต๊ะเก้าอี้
ผมอายุ ๗๕ ปี จึงสบายใจว่าไม่ต้องไปช่วยเลี้ยงช่วยสอนหลานหรอก เพราะสำนึกในความรับผิดชอบของใคร ย่อมเกิดขึ้นในจิตวิญญาณของเขาเอง